xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม”ห่วงประชาชนผนึกกำลัง“คมนาคม” “บก-น้ำ-ราง-อากาศ” ป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “ไวรัสโคโรนา” สายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กำลังระบาดในจีน โดยเฉพาะในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ตอนกลางของประเทศจีน และได้กระจายไปหลายประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน ยังต้องเฝ้าระวังขั้นสูงสุด ภายหลังยังพบว่า มีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ผนวกกับยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น (จากข้อมูลสาธารณสุขของจีน) หลายประเทศได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อยับยั้ง และป้องกันการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ “ประเทศไทย” ถือเป็นอีก 1 จุดหมายปลายทางที่ระบุว่า ประชาชนในเมืองอู่ฮั่นได้เดินทางเข้ามาในห้วงเวลาที่มีการแพร่ระบาด และท้ายที่สุด ได้พบมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประเทศไทย ส่งผลให้หลายภาคส่วน ต้องออกมาแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งหามาตรการรองรับ และป้องกันด้วยวิธีต่างๆ โดยเฉพาะ “ภาคการคมนาคมขนส่ง” ที่ถือเป็นจุดรวมของประชาชน ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ในการเดินทาง

“กระทรวงคมนาคม” ในฐานะหน่วยงานที่ได้กำกับดูแลภาคการคมนาคมขนส่ง การอำนวยความสะดวกการเดินทางในหลายมิติ ครอบคลุมทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ภายใต้การบริหารงานของ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ กำหนดมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของ “เชื้อไวรัสโคโรนา”

อากาศรวมใจต้านไวรัสโคโรนา
เริ่มด้วยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้ออกมาตรการป้องกัน กล่าวคือ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารชาวจีนที่ตกค้าง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกให้บริการผู้โดยสาร (AIRPORT OPERATION CENTER) ในระหว่างวันที่ 25 ม.ค – 9 ก.พ.63 ณ ห้อง CIP 5 ชั้น 3 อาคารผู้โดยสาร โดยภายในศูนย์จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สายการบิน ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ตำรวจท่องเที่ยว ฯลฯ นั่งประจำศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร

ทั้งนี้ ยังได้มีการจัดล่ามภาษาจีนคอยให้บริการและแนะนำข้อมูลให้กับผู้โดยสารชาวจีนเพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากนี้ ทสภ. ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดอุปกรณ์และพื้นที่ที่ผู้โดยสาร เช่น รถเข็นกระเป๋า ห้องน้ำ จุดกรอกเอกสาร ตม.ขาเข้า บริเวณเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ และบริเวณเครื่องออกบัตร Taxi Kiosk เป็นต้น รวมทั้ง ได้ติดตั้งเครื่องจ่ายแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ณ บริเวณทางออกประตูเทียบเครื่องบินขาเข้าทุกประตูและพื้นที่อื่น ๆ ที่มีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก

ขณะที่ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังฯ โดยได้เพิ่มมาตรการทำความสะอาดแบบ Deep Clean อย่างเข้มงวด ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาด ห้องน้ำ รถเข็นกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร เคาน์เตอร์ให้บริการสายการบิน เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ รวมถึงเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทาง ลิฟท์ ทางเดินเลื่อน ราวจับ ราวบันได และผิวสัมผัสบริเวณต่าง ๆ ภายในอาคารผู้โดยสารทั้งอาคาร 1 และ อาคาร 2 รวมถึงมีการให้บริการแอลกอฮอล์สำหรับเช็ดล้างมือสำหรับผู้โดยสาร

ฟากของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในฐานะผู้กำกับดูแลท่าอากาศยานภูมิภาค 29 แห่งนั้น ได้กำหนดแผนการรับมือของกรมท่าอากาศยาน ในการเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยได้สั่งการให้ทุกท่าอากาศยานดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มงวดทุกแห่ง โดยมีมาตรการตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานทุกแห่งอย่างเข้มงวด

ระบบรางวางมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสฯ
กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้นัดประชุมหน่วยงานทางรางที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาด “Corona Virus” ในระบบขนส่งทางราง โดยมีนายพีรพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธาน พร้อมด้วยนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดี ขร. และผู้แทนจากกรมควบคุมโรค กรุงเทพมหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BEM) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BTS) เข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อร่วมกันวางและกำหนดมาตรการแนวทาง ตลอดจนจัดทำแผนปฏิบัติป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โคโรนา

โดยสถานการณ์ปัจจุบัน กรมควบคุมโรคพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังอยู่ในระดับที่ 2 คือ พบผู้ติดเชื้อแต่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อได้ ซึ่ง ขร. ได้มีมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด แก่หน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง ดังนี้ 1.ให้จัดตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ พร้อมทั้งแจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้โดยสาร 2.เพิ่มความถี่ในการเช็ดทำความสะอาดทั้งในขบวนรถ และสถานีรถไฟ/รถไฟฟ้า โดยเน้นที่จุดสัมผัสร่วมต่างๆ อาทิเช่น ราวจับ ที่นั่ง เครื่องออกบัตรโดยสาร ประตูจัดเก็บบัตรโดยสาร เป็นต้น รวมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ 3.ให้หน่วยผู้ให้บริการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย และใช้เจลล้างมือ

ด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานกำกับผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ได้ยกระดับมาตรการด้านสุขภาพและอนามัยในเขตระบบรถไฟฟ้า MRT และพื้นที่สำนักงาน พร้อมรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน จึงได้สั่งการให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ยกระดับมาตรการด้านสุขภาพและอนามัยภายในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT

สำหรับมาตรการนั้น ได้แก่ เพิ่มความถี่การทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในสถานีรถไฟฟ้าทุกสถานี โดยเฉพาะพื้นที่ให้บริการที่มีการสัมผัสกับผู้ใช้บริการบ่อยๆ เช่น เครื่องออกบัตรโดยสาร ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ราวจับบันได บันไดเลื่อน ราวกันตก ประตูเก็บค่าโดยสาร เก้าอี้นั่ง ลิฟต์โดยสาร เป็นต้น รวมถึงเพิ่มการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในขบวนรถไฟฟ้า หลังปิดให้บริการ และก่อนเปิดให้บริการทุกวัน และเน้นการเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในบริเวณที่ผู้โดยสารต้องสัมผัส เช่น ราวจับภายในขบวนรถ เก้าอี้นั่ง เป็นต้น

ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น ได้เพิ่มมาตรการป้องกันภายในสถานีรถไฟทุกแห่ง โดยได้ดำเนินมาตรการในการดูแลด้านสุขภาพและอนามัยภายในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟทุกแห่ง เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายในพื้นที่เขตสถานีรถไฟ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สถานีรถไฟทุกแห่ง เพิ่มมาตรการความเข้มงวดการทำความสะอาดภายในบริเวณสถานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สถานีหัวลำโพง ซึ่งเป็นสถานีหลักที่มีผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเป็นจำนวนมาก จึงได้ดำเนินการทำความสะอาดด้วยการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคภายในสถานีรถไฟ โดยเน้นย้ำความสะอาดบริเวณพื้นที่ให้บริการที่มีการสัมผัสกับผู้ใช้บริการที่มีความถี่บ่อยครั้ง เช่น บริเวณช่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร เก้าอี้นั่งพักผู้โดยสาร ห้องน้ำ เป็นต้น

ขนส่งทางบก ล้อมคอกเชื้อไวรัสฯ
กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เข้มมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา แจ้งผู้ประกอบการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรครถโดยสารทุกคัน สถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่ง พร้อมแนะผู้ขับรถสาธารณะเฝ้าระวังดูแลสุขอนามัยตนเอง ใช้หน้ากากอนามัย ด้านสำนักงานขนส่งทั่วประเทศ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคทุกวัน เพิ่มความถี่เช็ดทำความสะอาดจุดสัมผัสสาธารณะ โดย ขบ.ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทให้ดำเนินการทำความสะอาดฆ่าเชื้อรถโดยสารทุกคัน และจุดบริการผู้โดยสารทุกแห่ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

สำหรับผู้ขับรถและผู้ให้บริการในภาคขนส่งสาธารณะซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวมากที่สุด เช่น ผู้ขับรถแท็กซี่ ผู้ให้บริการรถทัวร์เช่าเหมา กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่และรับโรคติดต่อทางเดินหายใจได้ง่าย ขอให้เพิ่มความระมัดระวังดูแลสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ใช้หน้ากากอนามัย หรือให้มีเจลล้างมือติดไว้ในรถ และขอให้ช่วยสังเกตอาการของผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน หากพบว่านักท่องเที่ยวมีอาการไข้หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแจ้งสายด่วน 1584 เพื่อประสานส่งต่อผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาต่อไป

ส่วนการให้บริการประชาชนที่สถานีขนส่งผู้โดยสารทั่วประเทศ กรมการขนส่งทางบกได้สั่งการให้สำนักงานขนส่งจังหวัดและสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา กำกับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และเอกชนอื่น ซึ่งเป็นผู้บริหารและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่งในพื้นที่รับผิดชอบ ดำเนินการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในสถานีขนส่งผู้โดยสารเป็นประจำทุกวัน และให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่

ขณะที่ บขส. ได้กำชับนายสถานีเดินรถ ผู้ประกอบการรถร่วม ช่วยกันดูแลความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบนรถโดยสาร ภายในสถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่ง พร้อมกำชับพนักงานประจำรถ เฝ้าระวังดูแลสุขอนามัยตนเอง ใช้หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ ทั้ง 3 แห่ง (จตุจักร, เอกมัย, ถนนบรมราชชนนี) ซึ่งเป็นสถานีขนส่งหลักที่มีผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก

การท่าเรือฯ เข้มตรวจสินค้ามาจากพื้นที่เสี่ยง
ในส่วนของการขนส่งทางน้ำนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ตรวจเข้มเรือและลูกเรือที่มาจากพื้นที่เสี่ยง โดยให้แจ้งตารางเดินเรือและรายละเอียดสำคัญก่อนเรือจะเข้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่ง กทท. กำหนดจุดจอดเรือ ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเป็นด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ส่วนมาตรการเฝ้าระวังพาหนะเรือและลูกเรือ ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง (จากสาธารณรัฐประชาชนจีน) และให้บริษัทเรือ (ผู้แทนเรือ) แจ้งกำหนดเรือเข้า ตารางการเดินเรือของบริษัทต่างๆ ที่จะเข้ามาถึง ทกท. ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง โดยทางโทรสาร ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) หรือมายื่นด้วยตนเองต่อเจ้าหน้าที่งานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

...จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันป้องกันและยับยั้ง เชื่อว่าจะสามารถผ่านไปได้ และประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน...








กำลังโหลดความคิดเห็น