xs
xsm
sm
md
lg

โรงพยาบาลรัฐ-เอกชน เฮ! หน้ากากอนามัยถูกส่งถึงมือแล้ว เผยพอใจรัฐช่วยแก้ปัญหาขาดแคลน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรงพยาบาลรัฐ-เอกชน เฮ หน้ากากอนามัยถูกส่งถึงมือแล้ว หลังศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยจัดสรรให้วันละ 7 แสนชิ้น ส่วนโรงพยาบาลเอกชน เตรียมเจียดให้คลินิกวันละ 4 หมื่นชิ้น พอใจช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนลงได้ “จุรินทร์” ย้ำการกระจายตรวจสอบได้ มีการบันทึกไว้หมด ออกจากโรงงานเท่าไร ไปที่ไหนบ้าง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเยี่ยมชมการกระจายหน้ากากอนามัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลศิริราช โดยมี รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ให้การต้อนรับ ว่าเป็นการมาติดตามการกระจายหน้ากากอนามัยของศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า กระทรวงสาธารณสุขจะรับไปวันละ 7 แสนชิ้น เพื่อนำไปกระจายให้โรงพยาบาลทั้งหมดทุกสังกัด จากจำนวนที่ผลิตได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น ส่วนที่เหลืออีก 5 แสนชิ้น กรมการค้าภายใน จะเป็นผู้กระจายไปสู่กลุ่มเสี่ยง เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และประชาชนทั่วไป โดยผ่านสมาคมร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ร้านธงฟ้า รวมถึงรถโมบาย 111 คัน

“มาดูแล้ว เห็นกับตาว่าโรงงานได้มาส่งแล้ว มีใบส่งสินค้ามาจากโรงงานผู้ผลิตตามคำสั่งของศูนย์ฯ ว่าออกมาจำนวนเท่าไร และมาส่งที่โรงพยาบาลศิริราช ไม่ผ่านที่ไหนเลย ซึ่งการทำงานของศูนย์ฯ จะมีการประชุมทุกวัน เพื่อให้การบริหารจัดการยืดหยุ่น และสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด โดยดูว่าสต๊อกที่ไหนมีเพียงพอสำหรับช่วงเวลาเท่าไร เพื่อแก้ปัญหาให้มีการกระจายให้ทั่วถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีผู้เรียกรับเงินใต้โต๊ะจากโรงงานผลิตชิ้นละ 1 บาท หากไม่จ่ายจะไม่ยอมให้ผลิตหน้ากากอนามัยนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ถ้ามีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นจริงให้ส่งเรื่องมาที่ตนได้เลยจะจัดการเอง ไม่ต้องรอให้ใครจัดการ และจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะทำให้เจ้าหน้าที่เสียกำลังใจ และเป็นปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ มีตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ 2 คนไปอยู่ประจำอยู่ที่โรงงาน เพื่อตรวจสอบว่า วันหนึ่งผลิตได้เท่าไรให้ส่งตัวเลขมาที่ศูนย์ฯ และศูนย์ฯ สั่งให้กระจายไปที่ไหน เท่าไหร่ จะบันทึกไว้ทั้งหมด ใครจะไปซื้อหลังโรงงานเหมือนที่เคยมีข้อสงสัยอยู่ ไม่น่าจะทำได้แล้ว

รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า โรงพยาบาลมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น และต้องหาซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาหาซื้อยาก แต่ล่าสุดทราบว่าศูนย์ฯ ได้ส่งให้ศิริราช เป็นที่แรก โดยได้รับมา 90,000 ชิ้น จากความต้องใช้ที่เพิ่มขึ้นเป็นแสนชิ้นต่อสัปดาห์ ต้องหวังพึ่งศูนย์ฯ เพราะหาซื้อที่อื่นไม่ได้ ทราบว่า ศูนย์ต้องบริหารจัดการรายวัน มีโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นศูนย์กลางประสานระหว่างโรงพยาบาลในสังกัดของมหาลัยทั้งหมด

“ตอนนี้ศิริราชมีใช้ได้อีก 3 สัปดาห์ ถือว่าเสี่ยง แต่หลังจากที่ได้การจัดสรรก็ช่วยบรรเทาลงได้ ยืนยันว่าศิริราชไม่ได้ให้หน้ากากกับบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน แต่ให้เฉพาะสายงานที่สัมผัสผู้ป่วยโดยตรง นอกนั้นจะให้หน้ากากเป็นผ้าที่ซักได้ สำหรับกลุ่มเสี่ยงของศิริราชอยู่ที่ 15,000 คน รวมแพทย์และนักศึกษาแพทย์ ตัวเลขที่ขอจึงไม่ได้โอเวอร์ โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย cross check กันเองได้ ไม่ได้พยายามกักตุน เพราะเข้าใจสถานการณ์”

ส่วน ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และ
นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลเอกชนขาดแคลนหน้ากากอนามัยมาก แต่หลังจากประชุมร่วมกันแล้ว ได้รับการแก้ไขปัญหาทันที และได้รับโควตาอย่างชัดเจนวันละ 1 แสนชิ้น ต้องขอขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นอย่างมาก โดยโรงพยาบาล อยู่ใกล้ชิดกับคนไข้มาก ตรวจคนไข้วันละ 1,600 คน และพยายามให้ความรู้กับคนทั่วไป ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงว่าให้ใช้หน้ากากผ้า เพราะประเทศเรามีกำลังการผลิตที่จำกัด และคนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องคัดกรองคนที่กลับมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือ เช่น เชียงราย เรามีหน่วยพิเศษซึ่งต้องใช้สิ่งพวกนี้อยู่ และคนไข้ที่เป็นไข้ทุกคนจะได้รับหน้ากากที่จัดสรรมานี้ เพราะไม่ต้องการให้เชื้อโรคแพร่กระจาย

“ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี และภาครัฐ ที่จัดสรรหน้ากากมาให้ เดิมทีนโยบายไม่ชัด จึงเกิดกระแสขึ้นมาเมื่อ 2-3 อาทิตย์ที่แล้วว่า โรงพยาบาลเอกชนออกมาโวยวายว่า ทำไมเราไม่มีหน้ากาก ตอนนี้ ท่านรัฐมนตรีมาทำกระบวนการที่ถูกต้อง และมองภาพใหญ่ชัดเจน สำหรับวันละ 100,000 ชิ้น ที่โรงพยาบาลเอกชนได้รับ จะจัดสรรให้โรงพยาบาลเอกชน 382 โรงจำนวน 60,000 ชิ้น โดยสมาคมจะเป็นตัวกลางในการจัดสรร ส่วนที่เหลือ 40,000 ชิ้น จะจัดสรรให้คลินิกทันตแพทย์ คลินิกหมอ เราจะหาวิธีจัดสรรไปสู่คลินิกทั่วประเทศ เพราะต้องป้องกันทุกคลินิก” ดร.นพ.เฉลิมกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น