xs
xsm
sm
md
lg

9 วิธีสู่การเป็น "หมอ" ที่ดี จากครูแพทย์ศิริราช เจ้าของรางวัลม.มหิดล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศผลผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาต่างๆ ประจำปีการศึกษา 2561 โดยหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลสาขาความเป็นครู คือ ผศ.พญ.สุวนิตย์ ธีระศักดิ์วิชยา อาจารย์แพทย์สาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ครูแพทย์ผู้ทำหน้าที่สอนลูกศิษย์ เพื่อให้ออกไปเป็นแพทย์ที่ดี ได้แนะวิธีการเรียนรู้สู่การเป็นแพทย์ที่ดี

โดย ผศ.พญ.สุวนิตย์ เพิ่งเข้ารับพระราชทานรางวัล จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆ นี้

ผศ.พญ.สุวนิตย์ เปิดเผยว่า การสอนนักศึกษาแพทย์ เพื่อให้ออกไปเป็นแพทย์ที่ดีนั้น จากประสบการณ์ที่เป็นอาจารย์แพทย์มานานากว่า 25 ปี ได้ปรับวิธีการสอนจนได้เป็นกรอบสำหรับการเรียนรู้ ที่เรียกว่า 9C คือ

C1 Complaint เป็นสิ่งสำคัญประการแรก คือ ดูอาการความเจ็บป่วยว่าเป็นอย่างไร

C2 Concern ความวิตกกังวลและความต้องการของผู้ป่วย หรือญาติคืออะไร เพราะผู้ป่วยจะมีความวิตกังวลซ่อนเร้นอยู่ แพทย์ควรทำให้เขาคลายความวิตกกังวลใจให้ได้

C3 Cause คือการหาสาเหตุหรือปัญหาที่มาของโรค

C4 Course คือสภาวะของผู้ป่วยหรือสภาวะของโรคขณะที่พบว่าอยู่ในช่วงใด คาดว่าโรคนี้จะดำเนินการไปอย่างไร เพราะจะต้องวางแผนเพื่อที่จะดูแลให้เหมาะสม ทันการณ์ เป็นการป้องกันโรคหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

C5 Choices คือข้อมูลทางเลือก ผลดี ผลด้อย ให้ผู้ป่วย หรือญาติทราบ และมีส่วนร่วมในการรักษา

C6 Cost ค่าใช้จ่ายในแต่ละทางเลือกของผู้ป่วย ข้อนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ป่วย แม้ปัจจุบันจะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม หรือรูปแบบค่าใช้จ่ายต่างๆตามกฎระเบียบของโรงพยาบาล หรือกฎหมาย ก็ควรแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมในการตัดสินใจด้วย

C7 Complication ในการรักษาแต่ละครั้งอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นก่อนมาถึงโรงพยาบาลแล้ว หรืออาจจะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง ซึ่งแพทย์จะต้องให้ข้อมูลชี้แจง หรือพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น หรือต้องเตรียมการแก้ไขเหตุการณ์เหล่านั้น

C8 Consequence คือ ผลที่เกิดตามมาของการรักษา ซึ่งเราต้องเตรียมการแก้ไข

C9 Counseling คือการให้คำปรึกษาแนะนำ และร่วมกันตัดสินใจพร้อมการเสริมด้านกำลังใจ เพื่อที่จะทำให้ผลการดูแลรักษานั้นมีประสิทธิภาพ เกิดความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ

"ทั้งหมดนี้ เป็นการสอนเพื่อให้นักศึกษาแพทย์จำง่าย ได้เห็นภาพกว้างในการดูแลรักษาหรือป้องกันโรค ฝึกความคิดเชื่อมโยง ไม่ว่าเขาจะจบไปเป็นแพทย์ระดับไหน ก็จะสามารถนำกรอบนี้ไปใช้ในชีวิตการเป็นแพทย์ที่ดี เพื่อดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม และสามารถพัฒนาตนเองต่อเนื่องได้” ผศ.พญ.สุวนิตย์ กล่าว

ผศ.พญ.สุวนิตย์ กล่าวว่า ผู้ที่มีอาชีพเป็นแพทย์ นอกจากจะต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย ภายใต้กรอบจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพแล้ว ยังต้องมีความเสียสละ มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ และมีความสนใจในวิทยาการที่ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ เราในฐานะที่เป็นครูแพทย์ที่นอกจากต้องให้ความรู้แก่ลูกศิษย์แล้ว ยังต้องมีกรอบคุณธรรม จริยธรรมสูงยิ่งขึ้น ความเป็นครูนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีความรู้ทางวิชาการเพื่อจะสอนนักเรียนเท่านั้น แต่ครูยังจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้ช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาทางด้านความรู้ บุคลิกภาพ อารมณ์ และสังคม ซึ่งก็คือ เราต้องเป็นที่พึ่งทั้งด้านศาสตร์ คือให้ความรู้ในวิชาชีพ และทางด้านศิลป์ คือ หล่อหลอมจิตใจ ให้ลูกศิษย์เป็นคนดี นั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น