“จุรินทร์”ปรับแผนดันส่งออกใหม่ สู้วิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาด เตรียมผลักดันสินค้าที่มีโอกาส ทั้งอาหาร ผลไม้ สินค้าอุปโภคบริโภค เจาะลึกเป็นรายตลาด รายสินค้า ใช้ออนไลน์ขายจีน อินเดีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย พร้อมให้พีอาร์สร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยในตลาดที่อ่อนไหว ส่วนเป้าส่งออกจะยึดเป้ารัฐบาล 3% ย้ำหาก 3 เดือนโควิด-19 ยังไม่จบ จะปรับแผนอีกรอบ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ทั่วโลก ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงสถานการณ์การส่งออกในปี 2563 ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องยอมรับความจริง ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผลจากสงครามการค้ายังไม่สะเด็ดน้ำ ปัญหาภัยแล้งกระทบการผลิตภาคเกษตร และปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาด และยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าจะยืดเยื้อแค่ไหน ทำให้ต้องปรับแผนการทำงานและปรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกใหม่ ทั้งการทำตลาด ตัวสินค้า บริการ แผนปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มตัวเลขหรือทำให้การส่งออกขยายตัวได้ดีที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ ภายใน 3 เดือนจากนี้ ก็ต้องมาพิจารณาปรับกลยุทธ์ใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะถ้าช้า อืดอาด อาจจะไม่ทันการณ์
โดยแผนการบุกเจาะขยายตลาด 18 ประเทศ ที่เคยกำหนดไว้เดิม จะปรับเงื่อนเวลาให้เหมาะสม เพราะต้องดูความพร้อมของประเทศเป้าหมายด้วย แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็จะเร่งขยายตลาดต่อไป โดยตลาดแอฟริกาใต้ ที่จะไปเดือนมี.ค.2563 ก็ชะลอไปก่อน และถ้าสถานการณ์ดีขึ้น จะให้ความสำคัญกับตลาดในเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ที่เคยไปแล้ว ก็จะไปซ้ำอีก รวมถึงบังกลาเทศ และปากีสถาน ที่เป็นตลาดที่มีโอกาสสูง
ส่วนสินค้าและบริการ ที่มีโอกาสขยายตัวจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 จะเร่งผลักดันการส่งออกให้ได้มากขึ้น เช่น อาหาร อาหารสำเร็จรูป ข้าว ผลไม้ ผลไม้แปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภค และจะเจาะลึกเป็นรายตลาด รายสินค้า เช่น จีน มีความต้องการอาหาร และอาหารสำเร็จรูปสูงมาก ก็ต้องเร่งเจาะ ฮ่องกง ต้องการข้าวหอมมะลิ และผลไม้ ซึ่งต้องหาทางส่งออกไปให้ได้ เพราะทางเรือมีปัญหา ก็ต้องส่งทางสายการบิน ตลาดสหรัฐฯ ต้องการข้าวหอมมะลิ ผลไม้แปรรูป เช่น สับปะรด สแน็กเพื่อสุขภาพ อินเดีย ต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มือถือ แป้งมัน น้ำมันปาล์ม ไม้ยางพารา ผลไม้ เครื่องประดับ เครื่องสำอาง และร้านอาหาร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีโอกาสส่งออกสินค้าฮาลาลเพิ่ม หลังจากได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาล ก็ต้องเร่งทำตลาด
นอกจากนี้ จะเพิ่มการจัดเวทีจับคู่เจรจาธุรกิจ (บิสสิเนส แมชชิ่ง) การขยายความสัมพันธ์ทางการค้า เช่น ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และใช้งานแสดงสินค้าโปรโมตสินค้าไทย การเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ เช่น ตลาดจีน ต้องใช้ช่องทางนี้ เพราะคนยังไม่ออกจากบ้าน เปิดร้าน TOP THAI บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ Tmall ในจีน Bigbasket.com อินเดีย และ Amazon สหรัฐฯ และญี่ปุ่น Presto ในมาเลเซีย รวมทั้งจะเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทยในตลาดที่มีความอ่อนไหว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ ว่าสินค้าไทยมีคุณภาพมาตรฐาน แม้จะมีปัญหาโควิด-19 แต่ไม่กระทบการผลิต การบริโภค
สำหรับเป้าหมายการส่งออกปี 2563 ได้ยึดเป้าหมายของรัฐบาล ที่กำหนดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ประเมินไว้ที่ 3% ยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่อยู่ในฐานะที่จะไปเปลี่ยนเป้า ถ้าเปลี่ยนต้องหารือร่วมกับสภาพัฒน์ กระทรวงการคลังก่อน
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การทำตลาดกลุ่มเสี่ยง เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะเน้นการขายออนไลน์มากขึ้น และจะปรับรูปแบบการเจรจาจับคู่ธุรกิจ โดยจะใช้วิธีใหม่ เช่น ให้ทูตพาณิชย์เชิญผู้นำเข้าแล้วมาเจรจากับผู้ส่งออกไทยผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ เป็นต้น ส่วนการจัดงานแสดงสินค้า กำลังประเมินว่าจัดเลื่อนหรือยกเลิกงานใดบ้าง โดยภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องเลื่อนการจัดงานแสดงสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ (TAPA) ที่จะจัดเดือนเม.ย.2563 ออกไปก่อน แต่งาน THAIFEX เดือนพ.ค.2563 ยังคงมีอยู่