กลุ่ม ปตท.อัดงบลงทุน 5 ปีนี้ (2563-67) รวม 9 แสนล้านบาท หวังกระตุ้น GPD ในประเทศโต 0.2-0.3% ลุ้นปีนี้มีผลประกอบการดีขึ้นกว่าปี 62 เหตุค่าการกลั่นและมาร์จิ้นปิโตรเคมีดีขึ้น
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือPTT เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.วางงบลงทุน 5 ปีนี้ (2563-67) รวม 9 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ส่วน ปตท.เองลงทุน 180,814 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนของกลุ่ม ปตท.ดังกล่าวคาดว่าจะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP ของไทยเติบโตขึ้น 0.2-0.3%
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ได้กำหนดทิศทางการลงทุนที่ชัดเจนว่าจะเน้นการลงทุนปิโตรเลียมขั้นต้นและปิโตรเลียมขั้นปลาย รวมถึงนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ (New S-Curve)โดยในปีนี้ไทยจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่ม 2-3 ลำ ซึ่งเป็นการนำเข้าจาก ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตประเทศไทย (กฟผ.) นอกเหนือจากการนำเข้า LNG ตามสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG ระยะยาวที่ทำไว้ เนื่องจากราคา LNG ตลาดจรมีราคาถูกกว่าปีก่อน คาดเฉลี่ย LNG ตลาดจรเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 3.0-5.0 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู
กลุ่ม ปตท.มีนโยบายสร้างพลังร่วมของกลุ่มและบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดผ่าน Project One โดยทั้ง 3 บริษัท ทั้ง บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และไทยออยล์ (TOP) ได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในปี 2562 คิดเป็น 2.97 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าหมายปีนี้จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนภายใต้ Project One ให้เข้มข้นมากขึ้นไปอีกในปีนี้ หลังจากประเมินว่าทิศทางราคาปิโตรเคมียังอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า
นายชาญศิลป์กล่าวถึงด้านผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ว่า เรื่องนี้กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งราคาน้ำมัน ปิโตรเคมี LNG โดยในส่วนของการใช้น้ำมันของไทยได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว คาดหมายว่าจะมีผลกระทบในไตรมาส 1 และ 2 ปีนี้ และจะฟื้นตัวในครึ่งหลังปี 2563 ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นผลต่อการกระจายหุ้นของ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ แต่โออาร์จะกระจายหุ้นได้ภายในปีนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของภาครัฐและภาวะที่เหมาะสม
สำหรับการดำเนินงาน ปตท.ในปี 2563 จะดีขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9.29 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีนี้มีปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นหลังบริษัทลูกได้เข้าซื้อกิจการค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นก็มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากการที่ไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุงใหญ่เหมือนในปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น
กอปรกับราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะค่อยๆ ดีขึ้น หลังจากปริมาณกำลังการผลิตใหม่ๆ ทยอยออกสู่ตลาดโลก ขณะที่ความต้องการใช้ยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ โดยเบื้องต้นมองว่าภาพรวมมาร์จิ้นโรงกลั่นในปีนี้น่าจะดีขึ้นจากปีก่อนที่ค่าการกลั่น (GRM) อยู่ในระดับต่ำมาก และมีส่วนต่าง (สเปรด) ปิโตรเคมีน่าจะดีขึ้นจากที่ต่ำมากในปีที่ผ่านมา
นายชาญศิลป์กล่าวต่อไปว่า ในขณะนี้ ปตท.ยังไม่ทราบผลของคณะทำงานราคาพลังงานที่เป็นธรรม ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ที่ศึกษาปรับปรุงสูตรราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันว่าจะออกมาเป็นอย่างไร และไม่เชื่อว่าจะลดราคาหน้าโรงกลั่นฯ ลง 50 สตางค์/ลิตร เพราะธุรกิจน้ำมันของไทยเป็นกลไกตลาดเสรี โดยที่ผ่านมากลุ่มโรงกลั่นฯ มีทั้งขาดทุนมากในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็ไม่มีฝ่ายใดคำนึงถึง และที่สำคัญ ปัจจุบันนี้โรงกลั่นฯ มีกำลังกลั่นราว 9 แสนบาร์เรล/วัน คิดเป็นการกลั่นน้ำมันกลุ่มดีเซลและเบนซินราว 60 ล้านลิตรต่อวัน หากลดราคาลง 50 สตางค์/ลิตร ก็จะมีผลกระทบราว 30 ล้านบาท/วัน ซึ่งก็จะกระทบทั้งรายได้ของโรงกลั่น และกระทบต่อการจ่ายภาษีแก่ภาครัฐ
นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.มีแผนออกหุ้นกู้ราว 5-6 หมื่นล้านบาทในกลางปีนี้ หลังจากไม่ออกมาในรอบ 2 ปี เพื่อระดมทุนมาใช้ตามแผนการลงทุนและใช้คืนหุ้นกู้เดิม คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ปัจจุบันปตท.มีเงินสดในมือราว 6 หมื่นล้านบาท