xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ทุ่มงบลงทุน9แสนล้าน ปั๊มจีดีพีประเทศโต0.2-0.3%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360-กลุ่ม ปตท. อัดงบลงทุน 5ปี (2563-67) แตะ 9แสนล้านบาท ช่วยกระตุ้นจีดีพีในประเทศโต 0.2-0.3% เผยจะเน้นการลงทุนธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น ขั้นปลาย และนวัตกรรม รวมถึงธุรกิจใหม่ ลุ้นปีนี้มีผลการดำเนินงานดีขึ้นกว่าปี 62 หลังจากโรงกลั่นและปิโตรเคมีไม่มีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ ทำให้มีปริมาณการผลิตเพิ่ม และคาดว่ามาร์จิ้นดีขึ้น "ชาญศิลป์" ติงจะลดราคาหน้าโรงกลั่นต้องคิดให้รอบด้าน ระบุเตรียมออกหุ้นกู้ 5-6 หมื่นล้านกลางปีนี้

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือPTT เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. วางงบลงทุน 5ปี (2563-67) รวม 9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนของ ปตท. เอง 180,814 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็นการลงทุนในไทยประมาณ 50-60% ที่เหลือเป็นการลงทุนในต่างประเทศ ที่เน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งเงินลงทุนของกลุ่ม ปตท. ดังกล่าว คาดว่าจะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยเติบโต 0.2-0.3%

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ได้กำหนดทิศทางการลงทุนที่ชัดเจนว่าจะเน้นการลงทุนปิโตรเลียมขั้นต้น ปิโตรเลียมขั้นปลาย และนวัตกรรม รวมถึงธุรกิจใหม่ (New S-Curve) โดยธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นจะมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่โลกมีความต้องการใช้พลังงานสะอาด ดังนั้น ปตท. จะให้ความสำคัญในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่สามารถขนส่งได้สะดวกขึ้นและมีการใช้กันทั่วโลก โดยก๊าซฯ ส่วนใหญ่ 50-60% นำมาใช้ในธูรกิจไฟฟ้า จึงมองการลงทุนตลอดห่วงโซ่ธุรกิจก๊าซฯ สู่ไฟฟ้า (Gas to Power) และเป็นผู้เล่นLNGในระดับโลก เพื่อทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านช่วยผลักดันให้ไทยเป็นLNG HUBระดับภูมิภาค เนื่องจากกลุ่ม ปตท .มีการลงทุนสถานีรับจ่ายก๊าซLNG (แอลเอ็นจี เทอร์มินอล) มีขนาดรองรับ 19 ล้านตันในปี 2565 ช่วยเคลื่อนความมั่นคงทางพลังงานและสร้างเศรษฐกิจ

โดยในปีนี้ ไทยจะมีการนำเข้าLNGเพิ่ม 2-3 ลำ ซึ่งเป็นการนำเข้าจากปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตประเทศไทย (กฟผ.)นอกเหนือจากการนำเข้าLNGตามสัญญาซื้อขายก๊าซLNGระยะยาวที่ทำไว้ เนื่องจากราคา LNGตลาดจรมีราคาถูกกว่าปีก่อน คาดเฉลี่ยLNG ตลาดจรเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 3.0-5.0 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู

ส่วนธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย กลุ่ม ปตท. มีนโยบายสร้างพลังร่วมของกลุ่มและบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดผ่านProject One โดยทั้ง 3 บริษัท ทั้ง บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และไทยออยล์ (TOP) ได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในปี 2562 คิดเป็น 2.97 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าหมายปีนี้จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนภายใต้ Project One ให้เข้มข้นมากขึ้นไปอีกในปีนี้ หลังจากประเมินว่าทิศทางราคาปิโตรเคมียังอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่องไปอีก 2-3ปีข้างหน้า

สำหรับการลงทุนด้านนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ จะเน้นการเข้าร่วมลงทุน หรือซื้อกิจการในธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) ไฟฟ้าครบวงจร พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งลงทุนตรงในVenture Capital เพื่อต่อยอดธุรกิจ

นายชาญศิลป์กล่าวถึงผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ว่า เรื่องนี้กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งราคาน้ำมัน ปิโตรเคมี LNG โดยในส่วนของการใช้น้ำมันของไทย ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว คาดหมายว่าจะมีผลกระทบในไตรมาส1และ2 ปีนี้ และจะฟื้นตัวในครึ่งหลังปี 2563 ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นผลต่อการกระจายหุ้นของ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ แต่โออาร์จะกระจายหุ้นได้ภายในปีนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของภาครัฐและภาวะที่เหมาะสม

สำหรับผลการดำเนินงาน ปตท.ในปี 2563 จะดีขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9.29 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีนี้มีปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้น หลังบริษัทลูกได้เข้าซื้อกิจการค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ก็มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากการที่ไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุงใหญ่เหมือนในปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ปตท. ยังไม่ทราบผลของคณะทำงานราคาพลังงานที่เป็นธรรม ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ที่ศึกษาปรับปรุงสูตรราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันว่าจะออกมาเป็นอย่างไร และไม่เชื่อว่าจะลดราคาหน้าโรงกลั่นลง 50 สตางค์/ลิตร เพราะธุรกิจน้ำมันของไทยเป็นกลไกตลาดเสรี โดยที่ผ่านมา กลุ่มโรงกลั่นมีทั้งขาดทุนมากในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ก็ไม่มีฝ่ายใดคำนึงถึง และที่สำคัญปัจจุบันนี้ โรงกลั่นมีกำลังกลั่นราว 9 แสนบาร์เรล/วัน คิดเป็นการกลั่นน้ำมันกลุ่มดีเซลและเบนซิน ราว 60 ล้านลิตรต่อวัน หากลดราคาลง 50 สตางค์/ลิตร ก็จะมีผลกระทบราว 30 ล้านบาท/วัน ซึ่งจะกระทบทั้งรายได้ของโรงกลั่น และกระทบต่อการจ่ายภาษีแก่ภาครัฐ หากภาครัฐต้องการให้ราคาน้ำมันขายปลีกลดลง ก็ควรพิจารณาถึงโครงสร้างราคาน้ำมันที่พบว่ามีการจ่ายภาษีและกองทุนฯ แก่รัฐค่อนข้างสูง หากจะลดจริงควรดูสิ่งนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันปรับลดสูงมากเกินไป จะส่งผลทำให้เกิดการใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพด้วย

นอกจากนี้ รัฐควรปรับโครงสร้างราคาเอ็นจีวีและค่าโดยสารให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยปัจจุบัน ปตท. รับภาระ เพราะต้นทุนเอ็นจีวีสูงกว่าราคาขายปลีก ราว 0.80-1 บาท/กก. จากราคาขายปลีกที่ 15.31 บาท/กก. และยังรับภาระในส่วนของลดราคาให้รถสาธารณะให้ต่ำกว่าราคาขายปลีดอีก 2 บาท/กก. ทำให้ ปตท.ต้องมีภาระอุดหนุน รถสาธารณะถึง 300 ล้านบาทต่อเดือน

น.ส.พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.มีแผนออกหุ้นกู้ราว 5-6 หมื่นล้านบาทในกลางปีนี้ หลังจากไม่ออกมาในรอบ 2ปี เพื่อระดมทุนมาใช้ตามแผนการลงทุนและใช้คืนหุ้นกู้เดิม คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 5% โดยปัจจุบัน ปตท.มีเงินสดในมือราว 6 หมื่นล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น