"กุลิศ" ตอกย้ำบทบาทไทยในเวที FEA2020 มุ่งสร้างศักยภาพความร่วมมือด้านพลังานเพื่อขับเคลื่อนให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาค และไฟฟ้า เปิดทางระยะยาวนำเข้า LNG ป้อนโรงไฟฟ้าเพิ่มเหตุก๊าซฯในอ่าวไทยเริ่มมีจำนวนจำกัดต้องกันไว้ใช้ป้อนปิโตรเคมี
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(บอร์ดกฟผ.) เปิดเผยในการเป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมในงาน Futrure Energy Asia 2020 (FEA2020) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 ก.พ.นี้ ณ ศูนย์การประชุมไบเทค ว่า ปัจจุบันผู้จำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)จากทั่วโลกมีมากขึ้นขณะที่ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตรานำเข้าที่เพิ่มขึ้นเช่นกันเนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีจำนวนจำกัด จำเป็นที่จะต้องสำรองไว้เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าจะมาจากการนำเข้าLNG เป็นส่วนใหญ่ในระยะยาว ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงมีแผนที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาค(Regional LNG Hub)
" ในงานครั้งนี้มีบริษัทเข้ามาร่วมกว่า 100 แห่งกว่า 20 ประเทศซึ่งก็มีบางส่วนได้ยกเลิกไปบ้างเพราะเกรงปัญหาไวรัสโคโรนา ซึ่งเวทีนี้ก็จะมีการพบปะของบริษัทซัพพลายเออร์ต่างๆที่เน้น LNG และบางส่วนก็เป็นพลังงานทดแทน โดยตอนนี้มีคนขาย LNG ทั่วโลกมากกว่าเดิมถึงเท่าตัวเพราะราคาเริ่มต่ำลงโดยราคาตลาดจร(Spot) ถูกลงมาก"นายกุลิศกล่าว
ทั้งนี้ที่ผ่านมากฟผ.ได้มีการทดลองนำเข้า LNG แล้ว 2 ล็อตโดยล็อตล่าสุดจำนวน 6 หมื่นตันที่จะนำเข้าในเดือนเมษายนนี้ซึ่งมีราคานำเข้าที่ต่ำลดค่าไฟได้ 0.21 สตางค์ต่อหน่วยซึ่งถือเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมดังนั้นจึงได้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ให้กฟผ.นำเข้าเพิ่มในปี 2563 เพิ่มอีก 6 แสนตันและปี 2564 กว่า 1 ล้านตันเพื่อส่งเสริมให้กฟผ.เป็นผู้ค้าส่ง LNG หรือ Shipper รายที่ 2 ต่อจากบมจ.ปตท. ซึ่งจะไม่กระทบกับสัญญาหลักซื้อขายก๊าซธรรมชาติ( DCQ ) ของปตท.แต่อย่างใด
" กฟผ.ก็จะเป็นการทดลองทำเทรดดิ้งด้วยเช่นกันแต่ต้องแก้กฏหมายก่อนเพราะไม่ได้เปิดทางให้ซื้อขายLNG แต่เทรดดิ้งที่ทำได้เลยไม่ต้องรอการแก้ไขกฏหมายคือการซื้อขายไฟฟ้าพลังน้ำจากลาวขาย มาเลเซีย พม่า ฯลฯ ซึ่งก็กำลังดูอยู่และกฟผ.เองก็มีแผนขยายสายส่งและตั้งบ.ที่เป็นเทรดดิ้งไฟฟ้าเพราะเมื่อไหร่โรงไฟฟ้าที่ลาวCOD 3-4 ปีข้างหน้าเราก็จะเทรดดิ้งได้เลย"นายกุลิศกล่าว
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ. สามารถดำเนินการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเทศลาว และมาเลเซียได้สำเร็จ และในอนาคตยังมีแผนเชื่อมโยงไปยังประเทศพม่า กัมพูชา และสิงคโปร์ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในระดับภูมิภาค สนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และแบ่งปันแหล่งพลังงานเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทั้งยังเป็นประโยชน์ในการช่วยให้ภาคพลังงานของอาเซียนมีความยืดหยุ่นในการแบ่งปันการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์และลม ที่มีแนวโน้มปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ งาน Future Energy Asia 2020 เป็นงานนิทรรศการและการประชุมระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีกลาง สำหรับผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชีย ได้พบปะหารือเชิงนโยบาย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูล เพื่อร่วมกันบูรณาการการจัดการด้านพลังงานของภูมิภาคให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมพลังงานแห่งอนาคต นอกจากนั้นยังเป็นช่องทางให้นักธุรกิจด้านพลังงานจากทั่วโลกพบปะเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่