ปตท.จัดทำโมเดลธุรกิจก๊าซธรรมชาติใหม่ รองรับดีมานด์ก๊าซในประเทศลด สอดรับนโยบายยืดอายุก๊าซฯในอ่าวไทย พร้อมรุกตลาดโรงงานอุตสาหกรรมนอกแนวท่อ พร้อมเสนอรัฐหนุนผุดโครงการ FSRU ที่ภาคใต้ป้อนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ แทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ล่าช้า
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการจัดทำรูปแบบธุรกิจก๊าซธรรมชาติใหม่เพื่อให้สอดรับสถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซฯที่เปลี่ยนแปลงและนโยบายรัฐที่ต้องการยืดอายุก๊าซฯ ในอ่าวไทยเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มปิโตรเคมี และไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ตลาดจรที่มีราคาถูกมาใช้ป้อนโรงไฟฟ้าแทน ซึ่งปัจจุบันก๊าซฯ ในอ่าวไทยมีเพียงพอความต้องการใช้ เนื่องจากปีนี้ความต้องการใช้ก๊าซฯ ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น กอปรกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สิทธินำเข้าแอลเอ็นจี แต่ต้องคำนึงถึงสัญญานำเข้าตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ให้ ปตท.ดำเนินการด้วย
ดังนั้น ปัญหาคือจำเป็นต้องสร้างดีมานด์ก๊าซฯ ในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การลงทุนโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ หรือ FSRU ควรจัดตั้งในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากมองว่าในพื้นที่อ่าวไทยไม่มีความจำเป็นต้องมี FSRU เพราะมีท่อก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าจำนวนมากอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับพื้นที่ภาคใต้ที่ยังขาดไฟฟ้าอยู่ ดังนั้นจึงควรดำเนินการจัดตั้ง FSRU และโรงไฟฟ้าใหม่ที่ภาคใต้มากกว่า โดยจะให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐ
นอกจากนี้ ปตท.ได้ปรับแผนก๊าซฯ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) LNG ในภูมิภาค ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินการจำหน่ายก๊าซฯ นอกแนวท่อมากขึ้น ล่าสุด ปตท.ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงงานอุตสาหกรรมนอกแนวท่อ เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 เพื่อให้คำปรึกษาโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาด อาทิ น้ำมันเตา ถ่านหิน เพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงแทน