xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ดันผุดเขต ศก.4 ภาค-เปิดทางคมนาคมกู้ ลงทุนปี 63 หาก พ.ร.บ.งบติดหล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นายกฯ” ดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคทั่ว ปท. เร่งศึกษาใน 1 ปี พร้อมวางแผนโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโลจิสติกส์ “ศักดิ์สยาม” ลุ้น พ.ร.บ.งบปี 63 หากมีปัญหา “นายกฯ” เปิดทางกู้ขับเคลื่อนโครงการลงทุนได้ พร้อมหารือนักลงทุนญี่ปุ่นจ่อลงทุนใน EEC เพิ่ม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 พื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ศึกษาให้เสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งแต่ละแห่งจะต้องมีการออก พ.ร.บ.เหมือนกับ พ.ร.บ.อีอีซี

“เขต ศก.พิเศษ 4 ภาคจะต้องมีโครงการคมนาคมที่เชื่อมโยง เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ถนน ซึ่งนายกฯ มอบคมนาคมหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อกำหนดกรอบแผนงาน ส่วนหลักในการพัฒนาแต่ละเขต ศก.นั้นจะไม่เหมือนกัน เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจเป็นเรื่องเกษตร ชีววิทยาทางการเกษตร เป็นต้น รวมถึงแนวคิดในการพัฒนาถนนลงสู่ภาคใต้ หากขยายเป็น 6 ช่องจราจรแล้วก็ให้หาแนวถนนใหม่เป็นถนนคู่ขนาน เพราะนอกจากลดความหนาแน่นการจราจรแล้ว ยังกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ใหม่ และศึกษาการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยมีรถไฟเป็นแลนด์บริดจ์เชื่อมด้วย”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการลงทุนในปี 2563 ซึ่งหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ไม่มีปัญหาต้องพร้อมดำเนินการโครงการต่างๆ ได้ทันทีเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากกรณี พ.ร.บ.งบประมาณมีปัญหาให้ประสานสำนักงบประมาณเพื่อกู้เงินมาดำเนินการโครงการไปก่อน เมื่อพ.ร.บ.งบปี 63 สามารถนำงบมาใช้คืนเงินกู้ภายหลัง ซึ่งขณะนี้มีเพดานหนี้สาธารณะอยู่อีกประมาณ 20%
โดยปี 2563 คมนาคมมีวงเงินงบประมาณรวม 208,396.08 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำ 37,791.64 ล้านบาท งบลงทุน 170,604.44 ล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับ Mr. Atsushi Taketani ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และคณะผู้แทนหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) ซึ่งได้ชี้แจงให้ญี่ปุ่นมั่นใจว่ารัฐบาลไทยมีความตั้งใจในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเมื่อ 6 เดือนก่อนมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนที่อีอีซี 81 บริษัท ขณะนี้เพิ่มเป็น 129 บริษัท และมีอีก 200 บริษัทอยู่ระหว่างตัดสินใจ

ขณะนี้โครงการใน EEC มีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคแล้ว เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ลงนามสัญญาปลายปี 2562, โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ประกาศผลผู้ชนะประมูลแล้ว และการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 การประมูลมีความก้าวหน้า และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้ปี 2567-2568 ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อสร้างความสะดวกให้นักลงทุน อาจจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในพื้นที่ EEC ของบริษัทญี่ปุ่นต่อไป


สำหรับข้อมูลที่ทาง JCCB สำรวจจากบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นสมาชิกของ JCCB เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจเพื่อกำหนดนโยบายของรัฐบาลและการประกอบธุรกิจของญี่ปุ่น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นและไทยเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน แม้ว่าขณะนี้ไทยกำลังประสบปัญหาทั้งผลกระทบจากสงครามเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ปัญหาภัยแล้ง การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ ขอให้ JETRO และ JCCB พิจารณาเพิ่มความถี่การสำรวจดังกล่าวให้มากขึ้นจากปีละ 2 ครั้งเป็น รายไตรมาส 3 เดือน เนื่องจากข้อมูลเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สามารถนำมาประกอบการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทันต่อสถานการณ์ และสามารถกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน เพราะคณะรัฐมนตรีมีการประชุมคณะต่างๆ เป็นประจำทุกเดือน ในส่วนของกระทรวงฯ จะนำข้อมูลในครั้งนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น