บีโอไอเผยดึงคณะนักลงทุนจากโตเกียว และโอซากากว่า 100 คนร่วมกิจกรรมสัมมนา-จับคู่ธุรกิจ เล็งสร้างเครือข่ายธุรกิจหนุนผู้ประกอบการชิ้นส่วนไทย พร้อมจัดลงพื้นที่เยี่ยมชมนิคมฯ และพื้นที่อีอีซี กระตุ้นลงทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม ชี้ 3 เดือนญี่ปุ่นลงทุนไทยแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงโตเกียว และนครโอซากา ได้จัดคณะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น รวมประมาณ 100 ราย เดินทางมาศึกษาโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย พร้อมกับเข้าร่วมงานสัมมนา หัวข้อ “ก้าวต่อไปของยานยนต์สมัยใหม่และโอกาสลงทุนในอีอีซี” (Next Generation Vehicle and Opportunity to Invest in EEC) ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน ซับคอนไทยแลนด์ 2018 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
โอกาสนี้บีโอไอได้ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนการค้าและการลงทุนในจังหวัดโอซากา (Osaka Foundation for Trade & Industry) หรือ OFTI จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจ (Business Networking Reception) เพื่อเป็นเวทีสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นได้เจรจาจับคู่ธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการไทยที่เป็นสมาชิกจากหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เป็นต้น
“คณะนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่เดินทางมาครั้งนี้ล้วนเป็นนักลงทุนในอุตสาหกรรมหลากหลายที่ต้องการพันธมิตร หรือสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ทั้งกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมการบิน ระบบอัตโนมัติ เป็นต้น นับเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการได้พบหารือและเจรจาธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นพันธมิตรและรับช่วงการผลิตได้ต่อไป” นายโชคดีกล่าว
นายโชคดีกล่าวว่า บีโอไอจะได้นำคณะนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่สนใจเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงาน และนิคมอุตสาหกรรม เช่น นิคมอุตสาหกรรม 304 นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง เป็นต้น รวมถึงลงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อรับฟังการบรรยาย แผนงาน ความคืบหน้า และโอกาสการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งล่าสุดพระราชบัญญัติอีอีซีมีผลบังคับใช้แล้ว โดยจะสร้างความชัดเจนในแนวทางการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล และความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ปัจจุบันบีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายเรื่องที่จะช่วยดึงดูดการลงทุน เช่น มาตรการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ท ซิตี้ ที่มีเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้พัฒนาระบบอัจฉริยะด้านต่างๆ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่อีอีซี โดยมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่าเดิม ที่จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
สำหรับการลงทุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทยมีอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มีนาคม 2561) ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุดจำนวน 65 โครงการ เงินลงทุน 11,790 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตรถยนต์ กิจการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย กิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) เป็นต้น