xs
xsm
sm
md
lg

สรุปมี.ค.ผุดทางด่วนใต้ดินลอดเจ้าพระยา”ถ.นราธิวาส-บางนา” แก้รถติดกลางเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเผยหลัง ให้ Mr.Hirai Hideki ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) พร้อมด้วยผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเข้าพบ ว่า ทาง MLIT ได้มีการศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาจราจร ซึ่งได้รายงานการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อน (Steering Committee) โครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดถนนนราธิวาส – สำโรง เป็นระบบทางด่วน ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา และบางกระเจ้า เพื่อเป็นทางบายพาส รถที่มาจากภาคใต้ ไปทางด้านตะวันออกได้โดยไม่ต้องวิ่งผ่านกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งแนวเส้นทางดังกล่าวจะบรรเทาและแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณสาทร สีลม บางรัก พระราม 4 และบริเวณใกล้เคียง
ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นรูปแบบโครงสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ระยะทางรวมประมาณ 8.7 กิโลเมตร (เป็นส่วนของอุโมงค์ ประมาณ 7.5 กม.) ขนาด 4 ช่องจราจรไป – กลับ เริ่มต้นจุดเชื่อมต่ออุโมงค์ทางลอด คือ เชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่1 ) กับถนนนราธิวาสและเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานครกับสี่แยกบางนา
การศึกษา ประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้
1) การสำรวจกายภาพของถนน ได้แก่ การศึกษาภาพตัดขวางของถนน เส้นทางในแนวราบและแนวดิ่งและจุดเชื่อมต่อ
2) การประมาณการต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง
3) การดำเนินการตรวจสอบผลกระทบที่มีต่อการจราจร ทั้งปริมาณจราจรปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
4) แนวทางการนำโครงการไปดำเนินการ เช่น การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP)
โดยMLIT จะสรุปลการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ เสร็จสมบูรณ์ ทั้งรูปแบบการก่อสร้าง มูลค่าการลงทุนเบื้องต้น ซึ่งมีทั้งแบบ PPP , การใช้เงินจากกองทุนTFF หรือเงินกู้ ซึ่งมองว่า การใช้ TFF เป็นทางเลือกแรกๆ ส่วนการกู้เงิน จะเป็นทางเลือกสุดท้าย และเสนอรายงานให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในเดือนมี.ค. 2563 และสนข.จะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป
“ได้ขอให้ศึกษาว่าเมื่อมีการก่อสร้างจริงจะกระทบต่อจราจรอย่างไร และให้สนข.หาแนวทางแก้ไข พร้อมทั้งพิจารณากรณีที่ต้องมีการต่อเชื่อมกับระบบทางด่วนอื่นที่มีเอกชนเป็นผู้รับสัมปทาน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบ เชื่อว่า มีผลตอบแทนในการลงทุนทางเศรษฐกิจเพราะดูจากปริมาณจราจรที่ค่อนข้างมาก ซึ่งจะขึ้นกับรูปแบบก่อสร้างซึ่งมี ทั้งแบบอุโมงค์เดี่ยว กับ 2 อุโมงค์ ซ้อนกัน”
นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า ปัจจุบัน รถจากภาคใต้เข้ากทม.เพื่อผ่านไปยังภาคตะวันออกมีปริมาณสูง ซึ่งโครงข่ายทางด่วนบริเวณต่างระดับท่าเรือมีความหนาแน่นมาก ซึ่งการก่อสร้างเส้นทางใหม่จะติดบริเวณ บางกระเจ้า ที่ห้ามมีการก่อสร้าง ดังนั้นเส้นทางนี้จะทำเป็นอุโมงค์ เส้นบายพาส เพื่อระบายรถ ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาไปโผล่บริเวณ ไบเทค บางนา ซึ่งสามารถเชื่อมกับทางด่วนบางนา-ชลบุรีเพื่อระบายรถได้ ซึ่งการก่อสร้างเป็นอุโมงค์จะทำให้เวนคืนน้อยที่สุด
โดยการศึกษาดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกทม.และปริมณฑล ที่ MLIT ศึกษา ซึ่งยังมีอุโมงค์ทางด่วน อีกประมาณ 9 แนว และการแก้ปัญหาจราจรรูปแบบอื่นๆ และการสนับสนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืนโดย สนข.จะสรุปแผนแม่บทเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น