“ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่” ขยายไลน์ธุรกิจไปสู่ธุรกิจไฟฟ้าโซลาร์ที่มาเลเซีย คาดชัดเจนปี 63 พร้อมลุยธุรกิจอาหาร ชงบอร์ดอนุมัติต้นปีนี้ หวังสร้างการเติบโตองค์กรหลังธุรกิจ LPG ใกล้อิ่มตัว
นายนพวงศ์ โอมาธิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาลงทุนธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องพลังงานและธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องพลังงาน คาดว่ามีความชัดเจนในปี 2563 หลังทิศทางความต้องการใช้ก๊าซปิโตรเลียวเหลว (LPG) เริ่มอิ่มตัว โดยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องพลังงาน อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ซึ่งบริษัทได้เจรจากับพันธมิตรร่วมทุนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้โรงไฟฟ้าโซลาร์ขนาด 10 เมกะวัตต์ที่มาเลเซียจะสรุปได้ในปีนี้ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่เวียดนามบริษัทตัดสินใจได้ยกเลิกดีลดังกล่าวแล้ว
นอกจากนี้ บริษัทได้พิจารณาธุรกิจผลิตและซ่อมถัง LPG อยู่ระหว่างเจรจา เบื้องต้นคาดหวังว่าจะจบได้ภายในปีนี้ โดยมีเงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท ส่วนธุรกิจกองเรือขนส่ง LPG ต้องใช้เงินลงทุนสูงคงไม่ลงทุนในปีนี้
ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับพลังงาน บริษัทสนใจธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูง ใช้เงินลงทุนไม่มาก โดยจะเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติการลงทุนต้นปี 2563 เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในช่วง 2 ปีนี้ราว 60-70 ล้านบาท
การรุกธุรกิจอาหารจะเป็นรูปแบบการเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการร้านอาหารมีชื่อเสียง โดยจะเข้าไปสนับสนุนด้านการเงินในการขยายสาขา รวมทั้งบริหารจัดการในเชิงธุรกิจ คาดหวังว่าธุรกิจอาหารจะสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ได้มากกว่า 30% สูงกว่าธุรกิจ LPG ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ปัจจุบันมี IRR อยู่ที่ราว 10-12% เท่านั้น
ดังนั้น ในปีนี้บริษัทใช้เงินลงทุนราว 350-400 ล้านบาท แบ่งเป็น 200 ล้านบาท จะใช้เพิ่มจุดกระจายสินค้าหรือโรงบรรจุ LPG ต่อเนื่องจากปลายปีก่อน โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มราว 15-20 จุดภายในสิ้นปีนี้ จากที่มีอยู่ 160 จุด และวางเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 200 จุดในอนาคตเพื่อให้สามารถขยายตลาด LPG ได้เพิ่มขึ้น ส่วนงบลงทุนอีกราว 100 ล้านบาทเตรียมไว้ลงทุนในธุรกิจถัง LPG และอีกราว 30 ล้านบาทรองรับลงทุนธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลังงาน (non energy) เป็นต้น
ส่วนแนวโน้มผลกำไรจากการดำเนินงานปีนี้คาดว่าจะเติบโตจากปีที่แล้วจากปริมาณการขายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ขยายตัวราว 2-3% มาที่ 8 แสนตัน จาก 7.7 แสนตันในปีที่แล้ว และมีอัตรากำไรสุทธิสูงกว่า 2% ในปีก่อนจากต้นทุนที่ลดลง
ปัจจุบัน WP มีส่วนแบ่งตลาดยอดขาย LPG ในประเทศภายใต้แบรนด์ “เวิลด์แก๊ส” เป็นอันดับ 3 มีส่วนแบ่งตลาดราว 18% รองจาก ปตท.ที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 และ บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2