xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานจ่อทบทวนนำเข้าเสรีLPG

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ก.พลังงาน เตรียมทบทวนนโยบายเสรีธุรกิจ แอลพีจี หลัง "สยามแก๊สฯ" ได้สิทธิ์นำเข้ารายที่ 2 นอกเหนือจาก ปตท. ล่าสุดปริมาณนำเข้าลดลงต่อเนื่อง และเริ่มหันไปซื้อ ปตท.แทน เหตุการใช้ในประเทศไม่ได้เติบโต ประกอบกับคลังเก็บ เสร็จไม่ทันกำหนดปี 63 เท่ากับหมดสิทธิ์นำเข้า ขณะที่ปตท. เล็งขออนุญาตส่งออก แอลพีจี ส่วนเกิน หลังถูกเบรกตั้ง แต่ปี 61

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เพื่อให้บุคคลที่สาม สามารถเข้ามาแข่งขันนำเข้าแอลพีจี นอกเหนือจาก บมจ.ปตท. ที่ดำเนินการอยู่เพียงรายเดียว รวมถึงการลอยตัวราคาได้ส่งผลให้ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGPประเดิมนำเข้าเป็นรายที่สองในช่วงที่ผ่านมานั้น ล่าสุด กระทรวงฯเตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องเพื่อทบทวนแนวทางเปิดเสรีนำเข้าแอลพีจี ให้สอดรับกับสถานการณ์ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่สยามแก๊สฯ ลดการนำเข้าแอลพีจี ลงและหันไปรับแอลพีจี จากปตท. แทน

"กระทรวงพลังงานได้ประกาศปล่อยลอยตัวราคาขายปลีกแอลพีจี ในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.60 เป็นต้นไป และสยามแก๊สฯ ก็ได้เป็นผู้นำเข้ารายที่สอง และในช่วงเดือนพ.ค.-ธ.ค.62 ทางสยามแก๊สฯ ได้เริ่มหยุดการนำเข้าแอลพีจี และกลับมาแจ้งแผนนำเข้าที่ลดลง เหลืออยู่ที่ 3,000 ตันต่อเดือน ช่วงระหว่างมี.ค.-พ.ค.63 จากเดิมเคยนำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ สูงถึง 44,000 ตันต่อเดือน และล่าสุด สยามแก๊สฯได้หันไปจัดซื้อแอลพีจี จากปตท.แทน" แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้สยามแก๊สฯ ไม่สามารถนำเข้าแอลพีจีได้ตามแผน เพราะไม่สามารถดำเนินการจัดสร้างคลังจัดเก็บแอลพีจี ของตัวเองเสร็จได้ทันกำหนดที่ตั้งไว้ ภายในปี 63 หลังจากที่ กรมธุรกิจฯ ได้ผ่อนปรนการนำเข้าแอลพีจี ด้วยการใช้เรือก๊าซลอยน้ำ(floating storage)ลอยลำตรงบริเวณเหนืออ่าวอุดม จ.ชลบุรี ได้ไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้ผู้ค้าก๊าซ มีเวลาเตรียมความพร้อมในการสร้างท่าเรือ และคลังก๊าซของตัวเอง ซึ่งคงไม่สามารถผ่อนผันขยายก่อสร้างท่าเรือและคลังได้ เพราะอาจถูกร้องเรียนจากรายอื่น และการสร้างคลังฯ คงไม่ทันในปีนี้ จึงถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐ ดังนั้น สยามแก๊สฯ เท่ากับว่าจะหมดสิทธิ์นำเข้าแอลพีจีลง หลังครบกำหนดในปี 63

นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีการหารือถึงข้อเสนอของปตท. ที่มีแผนยื่นขออนุญาตผ่อนผันส่งออกแอลพีจี ที่เป็นกำลังผลิตส่วนเกินของระบบเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน จากก่อนหน้านี้ภาครัฐไม่อนุญาตให้มีการส่งออก ตั้งแต่ปี 61 เพื่อป้องกันการขาดแคลนแอลพีจีภายในประเทศ แต่ในส่วนที่เป็นการนำเข้าแอลพีจี เพื่อการส่งออกนั้น ทางปตท.สามารถดำเนินการได้ตามปกติอยู่แล้ว

ทั้งนี้ปี 62 พบว่า แอลพีจีในภาคครัวเรือน มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.8 ล้านกก.ต่อวัน ลดลง 1.8% จากปีก่อน ภาคอุตสาหกรรม มีปริมาณการใช้ อยู่ที่ 1.8 ล้านกก.ต่อวัน ลดลง 3.9% จากปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซา ทำให้ความต้องการใช้แอลพีจี เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมลดลง อีกทั้งภาคครัวเรือนในชุมชนเมือง หันไปใช้เตาไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนแอลพีจีภาคปิโตรเคมี มีการใช้อยู่ที่ 7.4 ล้านกก. ต่อวัน เพิ่มขึ้น 7.9% จากปีก่อน

ดังนั้น การใช้แอลพีจีปัจจุบันไม่ได้เติบโตเหมือนในอดีต ที่รัฐมีการบิดเบือนโครงสร้างราคา ทำให้ความต้องการใช้ในประเทศเติบโตมาก และการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จนนำไปสู่การเปิดเสรีนำเข้าแอลพีจี ขณะที่ราคาแอลพีจี ตลาดโลกเฉลี่ย เดือนม.ค.63 อยู่ที่ 578 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 62 ที่ทีราคาเฉลี่ย อยู่ที่ 448 เหรียญฯ ต่อตัน
กำลังโหลดความคิดเห็น