แล้งล่วงหน้าก่อนสิ้นฤดูฝน
ขึงพื้นที่ประสบภัย 20 จังหวัด
ฤดูแล้ง ปี 2563 เริ่มต้นในช่วงเวลา 1 พฤศจิกายน 2562-30 เมษายน 2563 ตามรอบฤดูแล้งปกติ
แต่ปีนี้ กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยประกาศพิ้นที่ภัยแล้ง ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2562 จำนวน 20 จังหวัด 160 อำเภอ 592 ตำบล 5,065 หมู่บ้าน/ชุมชน
รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารตั้งแต่ปี 2557 ให้ความสนใจปัญหาน้ำ และมุ่งแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคก่อน น้ำเพื่อการเกษตรว่ากันทีหลังเพราะต้องใช้เวลานานกว่า อย่างน้อยที่สุด การแก้ไขปัญหานี้ก็ประสบความสำเร็จเชิงตัวเลข ภัยแล้งในปี 2560 มีเพียง 1 จังหวัด และในปี 2561 ไม่มีเลย ซึ่งเป็นผลจากการส่งสัญญาณเตือนสถานการณ์น้ำมาโดยตลอด และใช้นโยบายชัดเจนเรื่องการงดทำนาปรัง โดยใช้
มาตรการจ้างงานเกษตรกร เช่น การขุดสระ ขุดลอกคูคลอง เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้การบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์ภัยแล้งกลับเดินหน้าได้
ประเทศไทยไม่มีภาพเกษตรกรเดินทางเข้ามาหางานทำในเมืองหรือเมืองหลวงนานนักหนาแล้ว“ตัวเลขพื้นที่ประสบภัยแล้งปี 2563 นี้ เริ่มที่ 20 จังหวัด เป็นแค่จุดเริ่มต้นของภัยแล้งที่เริ่มเร็วขึ้นก่อนฤดูแล้งเสียอีก แต่เวลางวดลงๆ และน้ำต้นทุนที่เหลือน้อยลง จำนวนพื้นที่ภัยแล้งอาจเพิ่มขึ้นได้” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าว
การเพิ่มขึ้นของตัวเลขพื้นที่ประสบภัยแล้ง ส่วนหนึ่งมาจากการกำกับควบคุมพื้นที่ของรัฐบาล ในยุครัฐบาล คสช. ระดมกำลังฝ่ายปกครองและทหารเข้าตรึงการใช้น้ำได้เต็มที่ ทำให้มาตรการงดทำนาปรังเห็นผล แต่เมื่อเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง การคุมเข้มดูจะอ่อนแรงลง เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเหมือนในอดีต ดังเห็นได้จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ปลูกมากกว่า 3 ล้านไร่ จากที่ไม่ควรมีอยู่เลย เพราะมีโอกาสเสียหายสูงมาก ถ้าส่งน้ำไปช่วยก็จะกระเทือนต่อน้ำอุปโภคบริโภคและภาวะน้ำเค็มหนุนสูง
“น้ำจากเขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเพียงพอแค่การอุปโภคบริโภคและผลักดันน้ำเค็มรวมแล้ว 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือเพื่อการเกษตรระดับ 300 กว่าล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น” เป็นตัวเลขที่เลขาธิการ สทนช. ระบุไว้ตั้งแต่ปลายฤดูฝน 2562 ที่ผ่านมาแล้ว
เพราะก่อนสิ้นฤดูฝน 2562 ตัวเลขปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของทั้งประเทศสะท้อนว่า ฤดูแล้ง 2563 จะมีปัญหาขาดแคลนน้ำแน่นอน แม้จะมีพายุเข้ามาช่วยได้ในระดับหนึ่งก็ตาม เพราะแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 9 แห่ง จาก 38 แห่ง มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ แหล่งน้ำขนาดกลางกว่า 200 แห่งก็มีสภาพเช่นเดียวกัน
“สทนช. ส่งสัญญาณเตือนตั้งแต่เริ่มฤดูฝนจนถึงปลายปีที่แล้ว ซึ่งรัฐบาลเองก็รับทราบและอนุมัติแผนงานโครงการ ทั้งระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า และระยะยาวที่ต้องอาศัยเวลา ซึ่งทำมาโดยตลอดอยู่แล้วก่อนจัดตั้ง สนทช. ด้วยซ้ำ” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำฤดูแล้งปี 2563 ไม่ได้เลวร้ายเกินไป แต่ก็ไม่มีปริมาณน้ำมากพอที่จะทำนาปรัง ซึ่งเป็นพืชใช้น้ำมาก การแก้ไขปัญหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและน้ำทะเลหนุน หากไม่เตรียมการป้องกันแต่เนิ่นๆ ก็คงต้องเผชิญปั้ญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีความสำคัญกว่า รัฐบาลอนุมัติงบกลางให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำในครัวเรือนและสถานพยาบาลภายใน 120 วันเห็นผล และมีแนวโน้มใช้มาตรการเยียวยาโดยจ้างงานเกษตรกรเหมือนปีก่อน แทนที่จะปล่อยให้เกษตรกรทำนาปรังที่มีแต่เสี่ยงกับเสี่ยงต้นข้าวยืนตาย และขาดทุนซ้ำ
ถ้าสามารถบริหารจัดการน้ำอย่างชัดเจนเช่นนี้ ข้อมูลสถานการณ์น้ำและหลักปฏิบัติเหล่านี้จะเป็นบรรทัดฐานที่ดี และมีความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งหรืออุทกภัยได้ดียิ่งๆ ขึ้นในอนาคตตต่อไป