ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - แล้งทวีรุนแรง น้ำเขื่อนใหญ่โคราชลดฮวบเหลือน้ำใช้การได้แค่ 28% เท่านั้น งดส่งน้ำเพื่อการเกษตรโดยสิ้นเชิง ชี้พบชาวนายังดื้อปลูกข้าวนาปรังหลายพื้นที่เสี่ยงเสียหาย ขณะโรงพยาบาล 3 แห่งมีน้ำใช้ถึงแค่ มี.ค.นี้เท่านั้น จังหวัดฯ เร่งหามาตรการช่วย
วันนี้ (23 ม.ค.) นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 4 แห่งของ จ.นครราชสีมา และเขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้เหลืออยู่เพียง 245 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุเขื่อนทั้งหมด ซึ่งถือว่าในปีนี้เหลือปริมาณน้ำน้อยมากและต่ำกว่าเกณฑ์ที่คาดการณ์ไว้ โดยเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้วมีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 142 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุเขื่อน 314 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 19.8 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 12 ของความจุเขื่อน 155 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 46.9 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุเขื่อน 141 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 73.5 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26.7 ของความจุเขื่อน 275 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกเขื่อนจึงต้องมีมาตรการบริหารจัดการน้ำและควบคุมการใช้น้ำอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการส่งน้ำเพื่อการเกษตรหรือทำนาปรังนั้น ทุกเขื่อนประกาศแจ้งเตือนประชาชนในเขตชลประทานพร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดทำนาปรังโดยสิ้นเชิงเพราะทางเขื่อนจะไม่ส่งน้ำให้เพื่อการเกษตร ซึ่งมีพื้นที่อยู่ประมาณ 700,000 ไร่ เพราะต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจยังพบหลายพื้นที่มีการลักลอบปลูกข้าวนาปรังอยู่ ซึ่งเกษตรกรที่ฝ่าฝืนมีโอกาสเสี่ยงสูงที่ผลผลิตจะได้รับความเสียหายเพราะไม่มีน้ำส่งไปให้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการบริหารจัดการน้ำยังเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ คือ ประชาชนในพื้นที่ชลประทานจะมีน้ำอุปโภคบริโภคไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้แน่นอน
สำหรับจังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (ภัยแล้ง) แล้ว รวม 7 อำเภอ 52 ตำบล 512 หมู่บ้าน 1 เทศบาล 13 ชุมชน ได้แก่ อำเภอแก้งสนามนาง เทพารักษ์ จักราช โชคชัย ปักธงชัย โนนสูง และอำเภอโนนไทย และขณะนี้ในหลายพื้นที่อยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม ขณะนี้มีการแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ 25 หมู่บ้าน 8 อำเภอ และกำลังอยู่ระหว่างการเร่งแก้ปัญหาอยู่ 289 หมู่บ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลที่มีน้ำเหลือน้อยใช้ถึงแค่เดือนมีนาคมนี้ คือ โรงพยาบาลแก้งสนามนาง, โรงพยาบาลบัวลาย และโรงพยาบาลเทพารักษ์
ขณะที่ นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้รับมอบหมายจากนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อำเภอด่านขุนทดที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงในขณะนี้ โดยไปตรวจบ่อน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค อ.ด่านขุนทด ตั้งอยู่ บ.โนนสะเดา ต.พันชนะ อ.ด่านขุนทด มีปริมาณความจุน้ำ 650,000 ลบ.ม. โดยมีปริมาณน้ำที่เหลือ ณ ปัจจุบัน 500,000 ลบ.ม. การประปาส่วนภูมิภาคด่านขุนทดแจ้งว่าจะใช้น้ำผลิตประปาได้ถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ โดยช่วงนี้งดสูบน้ำมาเติมเนื่องจากน้ำในบึงถนนหักใหญ่เริ่มเหลือน้อยและมีรสเค็ม ขณะที่หลายพื้นที่เจ้าหน้าที่เร่งผันน้ำไปกักเก็บ และเจาะน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้