xs
xsm
sm
md
lg

จันทบุรี​เริ่มปล่อยน้ำเขื่อนคิรีธารเพิ่มอีก​ 5​ แสน​ ลบ.ม. หวังลดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี​ - ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้งจันทบุรี​ เดินหน้าปล่อยน้ำเขื่อนคิรีธาร​ เพิ่มอีก​ 5​ แสน​ ลบ.ม. ตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง​ พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรงดสูบน้ำที่ปล่อยผ่านเพื่อให้การประปามีน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำอุปโภคบริโภคตลอดฤดูกาล​

วันนี้ (22 ม.ค.) นายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้นำคณะกรรมการส่วนอำนวยการ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดจันทบุรี (ภัยแล้ง) จังหวัดจันทบุรี และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งผู้นำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่บริเวณคลองระบายน้ำ​ สำนักงานเขื่อนพลังน้ำคิรีธารจังหวัดจันทบุรี เพื่อดูการระบายน้ำ​ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งก่อนวางแผนบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนคิรีธารให้เหมาะสมต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่จะต้องใช้ตลอดฤดูกาล

โดยในวันนี้เป็นการปล่อยน้ำจากเขื่อนคิรีธาร​ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพิ่มขึ้นจากปกติที่เคยปล่อวันละ 1.5 แสน​ ลบ.ม. เป็น 6.5 แสน ลบ.ม. เพื่อจัดสรรน้ำไปทางลุ่มน้ำเวฬุ อ.ขลุง 30 เปอร์เซ็นต์ อ.มะขาม และแม่น้ำจันทบุรี​อีก 70 เปอร์เซ็นต์​ เริ่มตั้งแต่วันที่ ​22​ ม.ค. ถึงวันที่​ ​ ​27 พ.ค.2563

"ในส่วนของฝั่งลุ่มน้ำจันทบุรี น้ำที่ปล่อยลงมาเพิ่มเติมในทุกวันพุธ​ ทางจังหวัดได้ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกร และผู้ที่อยู่ใกล้เส้นทางน้ำผ่านงดสูบน้ำ หรือกักเก็บน้ำเกินปริมาณที่น้ำจะไหลผ่านเพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนจากเขื่อนคิรีธาร​ สามารถไหลลงมาถึงหน้าฝายยาง อ.เมือง​จันทบุรี​ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา ส่วนวันอื่นๆ เกษตรกรสามารถสูบน้ำได้ตามปกติ"

รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ยังเผยอีกว่า คณะกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จ.จันทบุรี​ จะได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและพร้อมปรับแผนเพื่อรักษาสมดุลปริมาณน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อการใช้ตลอดฤดูกาล

ขณะที่​ นายสุเทพ มีกระโดน ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ขลุง​ ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูสวนผลไม้ตัวอย่างของเกษตรกรที่ยึดแนวทางพระราชดำริ เกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้เพื่อให้เป็นสวนผลไม้ที่พึ่งพาตัวเอง ป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง​ ด้วยการแบ่งพื้นที่การเพาะปลูกและมีสระเก็บน้ำในพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการของผลผลิต ป้องกันผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในอนาคต












กำลังโหลดความคิดเห็น