xs
xsm
sm
md
lg

เลี่ยง “ไวรัสโคโรนา” ปรับแผนประชุมไฮสปีด “ไทย-จีน” ทางไกล เคาะสัญญา 2.3 ซื้อระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” เตรียมชง ครม.จัดประชุมทางไกล “รถไฟไทย-จีน” เพื่อตกลงสัญญา 2.3 ซื้อระบบไฮสปีด หลังจีนเผชิญไวรัสโคโรนา เร่งไม่ให้ล่าช้าไปกว่าแผนมากกว่านี้


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กม. วงเงินลงทุนรวม 179,412.21 ล้านบาท ภายใต้ความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกับฝ่ายจีนในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 28 แต่เนื่องจากจีนประสบปัญหาโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แพร่ระบาด และคาดว่าจะอยู่ในสถานการณ์นี้ไปอีกระยะหนึ่ง จึงอาจจะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนเป็นการประชุมทางไกลทางวิดีโอ (Video conference) แทนการเดินทางมาประชุมร่วมที่ประเทศไทยตามกำหนดเดิม

โดยรอทางจีนพิจารณาระเบียบของจีนก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่ หากจีนตอบตกลงไม่ติดขัดระเบียบ กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอจัดประชุมทางไกลรถไฟไทย-จีน ซึ่งไม่น่ามีปัญหาเนื่องจากที่ผ่านมามีการเจรจาข้อตกลงรายละเอียดร่างสัญญา 2.3 (การวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาทไว้แล้ว ส่วนการลงนามในสัญญา 2.3 นั้น สามารถส่งเอกสารผ่านทางสถานทูตได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้โครงการล่าช้าไปจากแผนมากนัก โดยแผนเดิมจะประชุม JC ครั้งที่ 28 ในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ตรวจสอบขั้นตอนและประสานกับฝ่ายจีน

สำหรับการก่อสร้างงานโยธาช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 120,162.126 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 14 สัญญา โดยอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 สัญญา ได้แก่ ช่วงกลางดง-ปางอโศก และช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ส่วนอีก 12 สัญญาอยู่ระหว่างประมูล และรอลงนามสัญญาแล้วบางส่วน แต่ยังไม่สามารถลงนามได้เนื่องจากบางช่วงมีการปรับแบบเพื่อให้รองรับระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะต้องเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมนั้น รมว.คมนาคมกล่าวว่า จะเร่งประสานกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยอธิบดีกรมรางรายงานว่าได้เร่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น