คมนาคมคลอดมาตรการ 3 ระยะ แก้ฝุ่น PM 2.5 สั่ง ขบ.เร่งศึกษาแนวทางเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมรถก่อปัญหามลพิษเพิ่ม คาด 1 ด.สรุปแนวทาง หารือหน่วยงานเกี่ยวข้องและรับฟังเสียงประชาชน เล็งประกาศใช้ในปีนี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมประสานแผนปฏิบัติการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. โดยมีข้อสั่งการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ได้แก่ การจัดหาเครื่องมือตรวจวัดควันดำ (แบบทึบแสง) เพิ่มเติมให้เพียงพอ และให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บูรณาการกับทางตำรวจ เพิ่มความเข้มข้นในการตั้งด่านตรวจควันดำให้ครบทั้ง 50 จุด ใน 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ ซึ่งได้สั่งให้เพิ่มจุดตรวจควันดำเป็นทั่วประเทศเพื่อป้องกันตั้งแต่ต้นทางอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบยานพาหนะให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่มีควันดำ พิจารณาการปรับการทำงานเหลื่อมเวลา เพื่อบรรเทาปัญหาจราจร และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทาง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มาตรการตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก ที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ขนส่งฯ ช่วงวันที่ 1 ต.ค. 2562 – 22 ม.ค. 2563 จำนวน 57,971 คัน พบรถที่มีควันดำเกินกฎหมายกำหนดจำนวน 1,087 คันโดยได้มีการพ่นเครื่องหมายห้ามใช้ และหากมีการนำรถคันดังกล่าวมาใช้โดยยังไม่ผ่านการตรวจสอบเกณฑ์ควันดำ จะมีโทษปรับครั้งละ 50,000 บาท ส่วนรถส่วนบุคคลที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.จราจร กำกับโดยตำรวจนั้น หากตรวจพบควันดำ มีโทษปรับครั้งละ 1,000 บาท
เร่งขบ.ศึกษามาตรการเก็บค่าธรรมเนียม/ภาษีรถเก่า ก่อมลพิษและ PM2.5
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ช่วง ระยะสั้น (ปี 2563 - 2564) ประกอบด้วย
1. บำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสภาพรถโดยสารที่เป็นบริการสาธารณะ ทั้ง ขสมก. ,รถร่วมบริการเอกชน, อู่รถแท็กซี่ และในพื้นที่ท่าเรือคลองเตย ขบ.จะเข้าตรวจควันดำในพื้นที่
2. ปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ให้รถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสารสาธารณะ รถไฟ ใช้พลังงานไบโอดีเซล B20 ปรับเปลี่ยนหัวรถจักรรถไฟให้มีคุณภาพ
3. แก้รถติด หน้าด่านเก็บค่าผ่านทางด่วน แก้รถติดหน้าท่าเรือกรุงเทพ และ มาตรการปรับเวลาวิ่งรถบรรทุก 10 ล้อเข้าเมืองตามพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 มากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สำหรับห้ามรถบรรทุกดีเซลวิ่งเข้าพื้นที่ชั้นใน จะมีการประชุมมาตรการวันที่ 13 ก.พ. จากนั้นจะต้องมีการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการและรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ก่อนจะประกาศบังคับใช้ต่อไป
4. มาตรการลดฝุ่น เช่น การปล่อยละอองน้ำลดฝุ่น รวมถึงการก่อสร้างในเวลากลางคืน
มาตรการระยะยะกลาง (ปี 65-69) และระยะยาว (ปี 70-75) ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ กำหนดอัตราโครงสร้างค่าโดยสารที่เหมาะสมให้ประชาชนหันมาใช้บริการมากขึ้น เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณรถบรรทุก เปลี่ยนท่าเรือกรุงเทพจากบริการสินค้าคอนเทนเนอร์เป็นท่าเรือสำหรับการท่องเที่ยว และจำกัดการใช้เครื่องยนต์ดีเซล
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ ขบ.ศึกษาแนวทางการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นมาตรการสำหรับกำหนดให้รถที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถ EV , NGV มีราคาถูกลง ส่วนรถที่ใช้พลังงานที่ก่อให้เกิด PM 2.5 จะต้องมีมาตรการด้านภาษีหรือค่าธรรมเนียม และจำกัดการใช้รถยนต์เก่า โดยให้สรุปแนวทางภายใน 30 วัน และรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อนออกประกาศบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะประกาศได้ภายในปีนี้
“การแก้ปัญหาเรื่อง PM2.5นั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนและสร้างความเข้าใจว่า ผู้สร้างปัญหาจะต้องรับผิดชอบ และเป็นมาตรการที่ใช้กับผู้ฝ่าฝืน โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องการตรวจจับควันดำ และการต่อทะเบียนรถประจำปี ที่จะนำมาบังคับใช้ ซึ่งประชาชนที่ใช้รถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะไม่มีผลกระทบใดๆ“ นายศักดิ์สยามกล่าว
โดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะมีการประชุมเพื่อบูรณาการร่วมกัน ทั้งกระทรวงคมนาคม,พลังงาน ,คลัง ในการวางแผนระยะยาวที่จะกำหนดในการปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดปัญหามลพิษและ PM2.5 ตั้งเป้าให้สำเร็จภายใน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 ของกระทรวงคมนาคม เพื่อรับรายงานการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดทุกวัน พร้อมบูรณาการในการแก้ปัญหาและปรับปรุงแผน รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านช่องทางการสื่อสารของกระทรวง MOT Channel ทาง YouTube, MOT Public Hearing ทางเว็บไซต์ของกระทรวงคมนาคม และสายด่วนคมนาคม 1356