xs
xsm
sm
md
lg

“ถาวร” ตรวจสนามบินนราธิวาส ชง ครม.สัญจรก่อสร้างอาคารหลังใหม่ รับ ผดส.เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
“ถาวร” ตรวจสนามบินนราธิวาส ชง ครม.สัญจรก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เผยปี 63-65 ลงทุน 800 ล้าน เพิ่มขีดรองรับเป็น 1.7 ล้านคน/ปี กำชับออกแบบผสมผสานพื้นเมืองกับสมัยใหม่ หนุนเที่ยวเมืองรอง

วานนี้ (20 ม.ค.) นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2563 ที่ จ.นราธิวาส และได้เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าแผนพัฒนาท่าอากาศยานนราธวาส จ.นราธิวาส
ซึ่งมีโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ งบประมาณ 800 ล้านบาท (ปี 2563- 2565) เพื่อขยายพื้นที่ใช้สอยจาก 5,000 ตรม. เป็น 12,000 ตรม. เพิ่มขีดรองรับผู้โดยสาร จาก 300 คน/ชม. หรือ 0.864 ล้านคน/ปี เป็น 600 คน/ ชม. หรือ 1.7 ล้านคนต่อปี คาดว่าดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565

นายถาวรกล่าวว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 21 ม.ค.นี้. กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ พร้อมครุภัณฑ์อำนวยความสะดวกสนามบิน นราธิวาส และเสนอวาระเพื่อทราบเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการสะพานเชื่อมการเดินทางระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย ณ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส อีกด้วย

โดยปัจจุบันสนามบินนราธิวาส มีสายการบินที่เปิดให้บริการทุกวัน จำนวน 2 สายการบิน ได้แก่ สายการบินไทยสมายล์ (สุวรรณภูมิ-นราธิวาส) วันละ 2 เที่ยวบิน (ไป-กลับ) และสายการบินไทยแอร์เอเชีย (ดอนเมือง-นราธิวาส) วันละ 2 เที่ยวบิน (ไป-กลับ) รวม 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ส่วนการบริการเที่ยวบินพิเศษแบบเช่าเหมาลำในประเทศ จะทำการบินโดยสายการบินนกแอร์ และมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บินตรงไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่ออำนวยความสะดวกรับ-ส่งผู้แสวงบุญที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวภายในอาคารผู้โดยสารคับคั่งจึงมีความจำเป็นต้องขยายต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสารให้มีพื้นที่เพียงพอต่อการใช้งาน และรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยในปี 2562 มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา มีเที่ยวบินรวม (ขาเข้า-ออก) จำนวน 18 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารเดินทาง รวมทั้งสิ้น 5,185 คน

“ปัจจุบันประเทศไทยมีเที่ยวบินโดยรวมทั้งภายในประเทศและเที่ยวบินต่างประเทศประมาณ 937,700 เที่ยวบิน/ ปี และอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการบริการทางการบินติดอันดับ 10 ของโลก ซึ่ง ทย.จะต้องดำเนินงานภายใต้นโยบาย “เชื่อมไทย-เชื่อมโลก” เพื่อสอดรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยมีสนามบินภูมิภาคเป็นศูนย์กลาง เชื่อมการเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก”

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาสนามบินนั้นต้องให้ความสำคัญการออกแบบก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารโดยเน้นการออกแบบให้เป็นทวิอัตลักษณ์ คือ การผสมผสานสถาปัตยกรรมพื้นเมืองกับสมัยใหม่ให้กลมกลืนกัน ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยของ ICAO, EASA และ IATAS และต้องคำนึงและให้ความสำคัญในการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ เช่น มีทางลาดทางเชื่อม ลิฟต์ และห้องน้ำสำหรับผู้พิการให้เพียงพอ การจัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นควบคู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่ การส่งเสริมพื้นที่ในการจัดจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร เช่น ผลไม้ตามฤดู การร่วมมือการสายการบินในการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถโหลดผลไม้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด การใช้พื้นที่ภายในท่าอากาศยานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรองรับกับธุรกิจในรูปแบบต่างๆ

นอกจากนี้ มีการสนับสนุนและผลักดันให้สนามบินทุกแห่งของกรมท่าอากาศยานเป็น Smart Airport โดยจะเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานกระบี่ให้เป็นท่าอากาศยานต้นแบบ โดยมีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการโรงแรม สายการบิน วิสาหกิจชุมชน ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับความสะดวก รวดเร็ว และเกิดความประทับใจในการใช้บริการ








กำลังโหลดความคิดเห็น