xs
xsm
sm
md
lg

กพท.เพิ่มระเบียบคุม “โดรน” ยกระดับมาตรฐานปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กพท.ปรับกฎระเบียบยกระดับคุมมาตรฐาน “โดรน” รองรับการเติบโต และลดความเสี่ยงต่อชุมชนและผลกระทบต่อความมั่นคง คาดบังคับใช้ได้ในปี 63 คาดปี 63 ผู้โดยสารทางอากาศโต 3-5% ยังติดตามสถานะบางสายการบินที่ขาดทุน

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานปี 2563 จะมุ่งเน้นดูแลมาตรฐานการบินพลเรือนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน โดยมีไฮไลต์ 2 เรื่อง คือ 1. การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอนาคต โดยจะมีการทบทวนกฎหมาย หลักเกณฑ์ การกำกับดูแล เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะออกเป็น พ.ร.บ.มากำกับดูแลโดยเฉพาะ และจะมีผลบังคับใช้ได้ในปลายปี 2563

ปัจจุบันเทคโนโลยีของโดรนมีความก้าวหน้าอย่างมาก และมีราคาถูกลง จึงมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในหลายวงการ เช่น รับจ้างถ่ายภาพ ตรวจสอบเส้นทางงานก่อสร้างรถไฟฟ้า รับจ้างโปรยสารเคมีในไร่อ้อย หรือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้โดรนเพื่อเข้าดูแลสายส่ง ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในหลายด้าน เช่น ความปลอดภัยต่อชุมชน และการปฏิบัติการบินของสายการบินพาณิชย์ด้านความมั่นคง และความเป็นส่วนตัวของประชาชน

ในการกำหนดเกณฑ์กติกาใหม่เบื้องต้น เช่น จะมีการขึ้นทะเบียนผู้ขับขี่โดรน ลงทะเบียนตัวเครื่องโดรนต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อคัดสรรผู้ขับขี่ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการใช้งานในเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมโดรน และจะมีการจัดโซนนิ่งด้วย รวมระดับความสูง โดยไม่ให้บินในพื้นที่ที่มีการจราจรคับคั่ง

ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนขับขี่โดรนเป็นบุคคลธรรมดาในประเทศจำนวน 11,286 ราย บุคคลธรรมดาต่างประเทศจำนวน 3,003 ราย นิติบุคคล 1,386 ราย และรัฐกับรัฐวิสาหกิจ 386 หน่วยงาน

2. ดูแลเรื่องการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (HEMS) ที่ กพท.มุ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุท้องถนน ดังนั้น จะให้การส่งเสริมในปีนี้ คือการปลดล็อกให้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งผู้ป่วยสามารถจอดที่นอกเหนือสนามบินได้ในวันที่ 1 มี.ค. 2563 เพราะระยะเวลาในการขนส่งผู้ป่วย 1 ชั่วโมงถือเป็น Golden Hour โดย กพท.ได้ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อผสานการขนส่ง ทั้งทางอากาศ บก และเรือ เพื่อที่จะรักษาชีวิตคนได้มากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินประเภทเฮลิคอปเตอร์ และนักบินเฮลิคอปเตอร์มากขึ้นอีกด้วย

นายจุฬากล่าวถึงภาพรวมการบินในปี 2563 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินเพิ่มขึ้น 3-5% ขณะที่สถิติการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศในปี 62 มีทั้งหมด 165.11 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.2% แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 76.20 ล้านคน ลดลง 3.1% และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 88.91 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.3% เพราะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และคนไทยนิยมเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้นด้วย

ส่วนจำนวนเที่ยวบินในปี 62 ลดลง 2.5% มาเป็น 1.07 ล้านเที่ยวบิน โดยจำนวนเที่ยวบินในประเทศลดลง 7% ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 2.6% ขณะที่คาดว่าในปี 63 จะกลับมาเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเดินทางด้วย

ส่วนสถานการณ์ของสายการบินนั้น ปัจจุบันมีสายการบิน 5 รายที่ กพท.เข้าดูแลเป็นพิเศษเพราะมีผลขาดทุนสะสมสูงระดับพันล้านบาทถึงหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ก็ต้องพิจารณาทุนจดทะเบียน สินทรัพย์ประกอบด้วย

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมามีสายการบินที่ขอใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าขายการเดินอากาศ (AOL) จำนวน 2 ราย และมี 1 รายที่ได้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) คือ สายการบินไทยอีสตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนไทย-เกาหลี

อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.พ.นี้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยสนามบินและสายการบิน รวมทั้งมาตรฐานการอำนวยความสะดวกเข้าออกของสนามบิน โดยจะใช้เวลาเข้ามาตรวจสอบเป็นเวลา 10 วัน

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)


กำลังโหลดความคิดเห็น