“คมนาคม” ขีดเส้นบัตรรถไฟฟ้า BTS และ MRT ใช้ข้ามระบบได้ ภายใน มิ.ย. 63 เริ่มตั๋วร่วมรถไฟฟ้าระยะเร่งด่วน เร่งเจ้าของระบบ ปรับปรุงหัวอ่าน Open ระบบ คาดลงทุนกว่า 300 ล้าน ด้าน “ชัยวัฒน์” เร่ง รฟม.อัปเกรด “แมงมุม 4.0” หรือ EMV เป็นเฟสต่อไป
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ครั้งที่ 28-1/2563 ว่า จากที่คณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ระยะเร่งด่วน โดยให้สามารถใช้งานผ่านบัตรรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, รถไฟฟ้าสายสีม่วง) ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบัตร Rabbit ของ BTS สามารถใช้ข้ามระบบได้ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสะดวกมากขึ้น
โดยในทางเทคนิคจะต้องพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ระดับที่ 1 เครื่องอ่านบัตรของแต่ละประตูทางเข้าสถานี ระดับที่ 2 ระบบคอมพิวเตอร์ของแต่ละสถานี ระดับที่ 3 Clearing House ของแต่ละหน่วยงาน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รฟม. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.), กรุงเทพมหานคร (กทม.) ,บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ปรับปรุงพัฒนาระบบให้สามารถใช้บัตรร่วมกันได้ภายใน 4 เดือน (ก.พ.-พ.ค. 63)และให้เริ่มใช้งานบัตรข้ามระบบได้ในเดือน มิ.ย. 2563 โดยให้หน่วยงานเจ้าของระบบ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดสรรงบประมาณในการลงทุนพัฒนาระบบให้เชื่อมต่อกัน
ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้พัฒนาระบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงให้เข้ากับระบบตั๋วร่วม และขอให้รายงานความคืบหน้าในการประชุมครั้งต่อไป และระดับที่ 4 ศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง เพื่อให้สามารถรองรับบัตรได้ทั้ง 3 รูปแบบ
สำหรับการพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) เป็น EMV (Euro/ Master/ Visa Card) นั้น มอบหมายให้ รฟม.เร่งรัดพิจารณาดำเนินการระบบ Account Based Ticketing หรือ ABT ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และนำเสนอแนวทางดำเนินงานต่อที่ประชุมในการประชุมครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม จะมีการติดตามความคืบหน้าทุกๆ 1 เดือน ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็วในการเดินทาง และขอให้รายงานความคืบหน้า ปัญหา อุปสรรค
รายงานข่าวแจ้งว่า ประเมินว่าการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์หัวอ่านและระบบของรถไฟฟ้า 4 สาย ให้สามารถรับบัตรข้ามระบบได้ จะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 300 ล้านบาท ทั้งนี้ มีข้อกังวลเนื่องจากจะมีเวลาในการทำงานปรับปรุงระบบที่จำกัด เนื่องจากสามารถทำได้ในช่วงหลังปิดให้บริการแล้ว คือหลังเที่ยงคืน-ตี 5 เท่านั้น
โดยปัจจุบันบัตรรถไฟฟ้าในปัจจุบันมี 4 รูปแบบ คือ บัตรแรบบิท (รถไฟฟ้าบีทีเอส) มีผู้ถือบัตรประมาณ 12 ล้านใบ บัตร MRT plus (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสีม่วง) มีผู้ถือบัตรจำนวน 2 ล้านใบ และบัตรแมงมุมมีจำนวน 2 แสนใบ