xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ เดินหน้าศึกษาทำเอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร หลังเบร็กซิตได้ไปต่อ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าสานสัมพันธ์ทางการค้ากับสหราชอาณาจักร พร้อมเร่งศึกษาประโยชน์ ผลกระทบ จัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทำเอฟทีเอไทย-ยูเค หลังผลเลือกตั้งยูเคล่าสุดชี้ชัดเบร็กซิตมีแววได้ไปต่อ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานทบทวนนโยบายการค้ากับสหราชอาณาจักร (ยูเค) เพื่อปูทางไปสู่การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ยูเค ระหว่างกันในอนาคต หากทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมและเห็นว่าเป็นประโยชน์ และยังได้เตรียมจ้างหน่วยงานวิจัยภายนอก ศึกษาประโยชน์และผลกระทบต่อไทยถึงการทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค) รวมทั้งเตรียมการจัดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคม หลังจากที่พรรคอนุรักษ์นิยมภายใต้แกนนำของนายบอริส จอห์นสัน ซึ่งผลักดันนำยูเคออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภา และจะเดินหน้าต่อในเรื่องเบร็กซิต ก่อนที่จะรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการทำเอฟทีเอระหว่างสองประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งของยูเคล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมภายใต้แกนนำของนายบอริส จอห์นสัน ได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภา ส่งผลให้นายจอห์นสันได้เป็นนายกรัฐมนตรีของยูเคต่อ และส่อแววว่านายจอห์นสัน จะเร่งเดินหน้าเบร็กซิตให้ทันกำหนดเส้นตายวันที่ 31 ม.ค.2563 โดยรัฐบาลใหม่ของยูเคคงต้องรีบนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถอนตัวออกจากอียู เสนอให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติ และเร่งเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าใหม่กับอียูให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และมีผลใช้บังคับทันวันที่ 1 ม.ค.2564 ก่อนที่ยูเคจะออกจากอียูอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ยูเคจะยังคงเป็นสมาชิกอียูและปฏิบัติตามกฎระเบียบของอียูต่อไป โดยอัตราภาษีและกฎระเบียบที่ยูเคปฏิบัติกับประเทศอื่นๆ จะยังคงเดิมเช่นปัจจุบันไปจนถึงสิ้นปี 2563 ทำให้เกิดความแน่นอนทางการค้าและทิศทางในอนาคตของยูเค ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

สำหรับยูเค เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 20 ของไทย และอันดับที่ 2 จากอียู รองจากเยอรมนี โดยในช่วง 10 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) การค้ารวมมีมูลค่า 5,285.17 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 3,282.10 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น รถยนต์และอุปกรณ์ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น และนำเข้า 2,003.07 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น