xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ กางแผนทำงานปี 63 ดันเซ็นอาร์เซ็ป-ลุยเอฟทีเอเก่าใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกางแผนงานปี 63 ผลักดันเซ็นอาร์เซ็ปปิดดีลเอฟทีเอคงค้าง มั่นใจไทย-ตุรกีจบแน่ ไทย-ปากีสถานมีลุ้น ส่วนเอฟทีเอใหม่จะเร่งไทย-อียูเข้าร่วม CPTPP ฟื้นไทย-EFTA ไทย-EAEU ไทย-บังกลาเทศ อัปเกรดเอฟทีเอเดิม ใช้เวที JTC เพิ่มการค้า แก้อุปสรรค ดันปฏิรูป WTO พร้อมลงพื้นที่ช่วยเกษตรกร ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการทำงานปี 2563 ว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสร็จแล้ว โดยจะให้ความสำคัญต่อการเจรจาการค้าในกรอบต่างๆ ได้แก่ การเร่งรัดการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป), การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) คงค้าง, การเจรจาเอฟทีเอใหม่, การปรับปรุงเอฟทีเอที่มีอยู่เดิม, การประชุมคณะกรรมการการค้า (JTC) และการเจรจาการค้าพหุภาคีเพื่อเปิดตลาด ลดอุปสรรคทางการค้าให้กับสินค้าและบริการของไทย

ทั้งนี้ การลงนามอาร์เซ็ป ขณะนี้สมาชิกกำลังประชุมกลุ่มย่อยเพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย คาดว่าจะประชุมทุกเดือน รวมถึงการหาข้อสรุปในประเด็นคงค้างกับอินเดีย และในไตรมาสที่ 1 หรือ 2 จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีอาร์เซ็ปเพื่อติดตามความคืบหน้า ส่วนการเจรจาเอฟทีเอคงค้าง จะผลักดันเอฟทีเอไทย-ตุรกี ให้แล้วเสร็จในปี 2563 ไทย-ศรีลังกาเจรจากันมาแล้ว 2 รอบ แต่ได้หยุดชะงักไปเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ขณะนี้มีการเลือกตั้ง กำลังติดตามนัดหมายเจรจาต่อไป และไทย-ปากีสถาน เจรจามาแล้ว 9 รอบ สำเร็จไปแล้ว 98% เหลือการเปิดตลาดสินค้า จะเร่งเจรจาให้สรุปให้ได้ในปี 2563

สำหรับเอฟทีเอใหม่ กำลังเตรียมการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) โดยจะเสนอผลศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณา, กำลังเตรียมฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร, เตรียมการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP), ฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-EFTA, ไทย-EAEU และไทย-บังกลาเทศ

ส่วนการยกระดับหรือทบทวนเอฟทีเอที่มีอยู่เดิม จะมีการหารือเพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติม หรือเพิ่มข้อบทใหม่ๆ เพื่อให้ทันต่อการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และจะใช้เวทีประชุมคณะกรรมการการค้า (JTC) ขยายการค้าและแก้อุปสรรคการค้า ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม สิงคโปร์ รัสเซีย บังกลาเทศ มัลดีฟส์ และโมซัมบิก เป็นต้น รวมถึงการผลักดันให้มีการปฏิรูปการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) การแก้ปัญหาองค์กรอุทธรณ์ที่ไม่มีคนทำงาน และการเตรียมการประชุมรัฐมนตรี WTO ในเดือน มิ.ย. 2563

นอกจากนี้ จะลงพื้นที่เสริมสร้างความรู้และผลักดันการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอให้แก่เกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการ โดยจะร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดทำโครงการจัดทัพโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศขยายตลาดจีนและอาเซียน การประกวดแผนธุรกิจ เน้นการทำแผนธุรกิจโดยใช้เอฟทีเอขยายตลาดอินเดีย และการผลักดันตั้งกองทุนเอฟทีเอ


กำลังโหลดความคิดเห็น