สองหน่วยงานพาณิชย์รับลูก “จุรินทร์” กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสั่งทูตพาณิชย์ในจีนและอินเดียศึกษาข้อมูลรายมณฑลและรายรัฐ ก่อนจับมือกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศลุยหารือปลดล็อกปัญหาอุปสรรคทางการค้า และหาทางอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อเพิ่มยอดการส่งออกของไทย
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายให้เจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ลงลึกเป็นรายมณฑลและรายรัฐ เบื้องต้นมุ่งตลาดจีนและอินเดีย ว่า กรมฯ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) หรือทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในจีนและอินเดีย ทำการศึกษาช่องทางว่าแต่ละมณฑล แต่ละรัฐ มีอะไรปลีกย่อยที่ไทยจะเจรจาเป็นการเฉพาะได้บ้าง เพื่อลดปัญหาอุปสรรคทางการค้า และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น
“การเจรจาตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีอาจไม่ใช่เอฟทีเอเต็มรูปแบบ แต่จะเป็นการเจรจาหรือมีความร่วมมือ เพื่อปลดล็อกอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันมากกว่า เพราะในบางมณฑล หรือบางรัฐ มีกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าของไทย อย่างมณฑลกวางสี เราอาจจะเจรจาเพื่อให้การนำเข้าผลไม้จากไทยสะดวกมากขึ้น หรือในมณฑล หรือรัฐอื่น อาจคุยถึงเรื่องการให้สิทธิพิเศษต่างๆ ด้านการลงทุน ซึ่งจะส่งผลให้การค้าขาย และการลงทุนของไทยคล่องตัวมากขึ้น โดยได้ขอให้ทูตพาณิชย์รายงานข้อมูลมาภายในวันที่ 17 ธ.ค. 2562 จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลมานำเสนอต่อนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และจะหารือกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมการเจรจากับมณฑลต่างๆ ของจีน และรัฐต่างๆ ของอินเดียต่อไป” นายสมเด็จกล่าว
สำหรับการจัดทำเป้าหมายการส่งออกสินค้าไทยในปี 2563 ขณะนี้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) อยู่ระหว่างการดำเนินการ จากนั้นจะมีการประชุมทูตพาณิชย์ และภาคเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกันอีกครั้ง ก่อนจะกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นทางการ คาดว่าน่าจะมีการประชุมทูตพาณิชย์ประมาณเดือน ก.พ. 2563
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการประสานงานกับทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ในจีนและอินเดีย ทราบว่าปัจจุบันในมณฑลและรัฐต่างๆ ของจีนและอินเดียรับนโยบายจากรัฐบาลกลาง มีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศอยู่แล้ว การจะเจรจาที่จะลงลึกเป็นรายมณฑลและรายรัฐน่าจะพุ่งเป้าหมายไปที่การลดอุปสรรคทางการค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากกว่า เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้การค้าขายสะดวกมากขึ้น โดยการเจรจาในเบื้องต้นน่าจะทำเป็นความร่วมมือระหว่างกัน