xs
xsm
sm
md
lg

“สุขสยาม” ปั้นร้านค้าสู่อินเตอร์ ยอดขายสะพัดพันล้าน-ดึงทัวร์ลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - “สุขสยาม” ลั่นเปิดครบ 1 ปีเสียงตอบรับดี เผยคนเข้าเมืองมากกว่า 60,000 คนต่อวัน ชาวต่างชาติเพียบโดยเฉพาะจีน พร้อมเงินสะพัดกว่า 1,000 ล้านบาทจากร้านค้าชุมชนหมุนเวียนกว่า 2,500 ร้านค้า เผยปีหน้าดึงกลุ่มทัวร์ลงเพียบ เพิ่มทราฟฟิกอีก 30%

นางลักขณา นะวิโรจน์ ประธานโครงการเมืองสุขสยาม บนพื้นที่ 15,000 ตารางเมตร ไอคอนสยาม เปิดเผยว่า หลังจากเปิดบริการเมืองสุขสยามมาได้ครบ 1 ปีได้รับการตอบรับจากตลาดอย่างดี โดยทั้งปี 2562 ที่ผ่านมามีคนเดินเข้ามาเที่ยวและจับจ่ายในสุขสยามนี้ประมาณ 50,000-60,000 คนต่อวัน แบ่งสัดส่วนเป็นคนไทยประมาณ 40% ส่วนอีก 60% เป็นคนต่างชาติ และมียอดขายรวมจากร้านค้าต่างๆ ในสุขสยามแล้วมากกว่า 1,000 ล้านบาท

ในส่วนของกลุ่มลูกค้าต่างชาตินี้มีหลากหลาย ทั้งที่มาแบบ G.I.T (Group Individual Travelers) ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเป็นกลุ่ม รวมไปถึงกรุ๊ปทัวร์ต่างๆ และเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางเป็นกลุ่มด้วยตัวเอง หรือเรียกว่า FIT (Free and Independent Traveler) หรือการท่องเที่ยวแบบอิสระ (Foreign Individual Tourism) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงอย่างต่อเนื่อง จะคิดเป็น 30% จากยอดรวมทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนมากที่สุด รองลงมาคือนักท่องเที่ยวชาวไต้หวัน และนักท่องเที่ยวจากอาเซียน รวมถึงจากรัสเซีย อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลาง และกลุ่มที่เริ่มมาเติบโตดีคือ ซีแอลเอ็มวี เช่น เวียดนาม กัมพูชา


สำหรับพื้นที่ร้านค้านั้นในรอบปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการท้องถิ่นในเมืองสุขสยามที่เปิดบริการเป็นร้านค้าประจำกว่า 30 ร้านค้า และเป็นร้านค้าที่หมุนเวียนเข้ามาเปิดบริการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลาประมาณ 6 เดือนต่อครั้ง รวมมากกว่า 1,000 ร้านค้าแล้ว แบ่งเป็นร้านอาหาร 600 ร้านค้า และร้านค้าที่ไม่ใช่อาหาร 400 ร้านค้า ซึ่งเมื่อรวมจำนวนร้านค้าทั้งหมดที่หมุนเวียนเข้ามามีประมาณ 2,500 ร้านค้า มาจากทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นการเก็บค่าเช่า และมีเวลาเปิดบริการเฉลี่ย 6 เดือนเพื่อเปิดโอกาสให้ร้านอื่นหมุนเวียนเข้ามาเปิดบ้าง

สินค้าจะมาจาก 4 ภูมิภาคหลักของประเทศ ได้แก่ อาหาร งานศิลปะ หัตถกรรมงานฝีมือ เวชศาสตร์ การแสดงการละเล่นพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการผนึกกำลังระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจ ศิลปิน วิสาหกิจท้องถิ่น ชุมชนวิถีไทย และผู้ประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นทั้ง 77 จังหวัด โดย “เมืองสุขสยาม” จะทำหน้าที่เสมือน “เวที” ในการนำเสนอสุดยอดผลิตภัณฑ์จากทั้ง 4 ภูมิภาค แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซนหลัก คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน


นางลักขณากล่าวว่า จากการส่งเสริมด้านการตลาด และสร้างองค์ความรู้อย่างรอบด้านให้แก่ผู้ประกอบการจากชุมชนต่างๆ ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลต่อผู้ที่มาค้าขายในเมืองสุขสยามต่างมีรายได้ที่ดีขึ้น ส่งผลต่อจำนวนเงินทุนที่ใช้ทำธุรกิจและพัฒนาสินค้าต่อไป สนับสนุนและส่งเสริมผู้ผลิตสินค้าชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศให้มีความรู้ทางด้านการขายและการทำการตลาด

รวมทั้งการประกอบธุรกิจรูปแบบใหม่ให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าชาวต่างชาติ สนับสนุนให้สินค้าเหล่านั้นสามารถเจาะตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ ต่อยอดไปสู่การทำ e-Commerce ได้ในอนาคต รองรับการเข้าสู่ความเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการช่วยสืบสานมรดกทางภูมิปัญญา รักษางานศิลปะและงานฝีมือดั้งเดิมของไทยให้คงอยู่แบบยั่งยืน


สุขสยามคัดเลือกร้านค้าที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จากแต่ละภาคมาเข้ารับการฝึกอบรมเสริมทักษะความรู้ ก่อนจะทำการทดสอบเพื่อคัดเลือกสุดยอดร้านค้า เพื่อมอบรางวัลแห่งเกียรติยศ “SOOKSIAM Local Heroes 2019” ให้แก่ผู้ประกอบการจำนวน 10 ราย สำหรับ Local Heroes แห่งปี


“ในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายรายที่เข้ามาออกร้านในสุขสยามจนได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมแล้ว ยังได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวต่างชาติ ต่อยอดสู่การออกสู่ตลาดสากล เช่น ลุงเงินกาแฟหม้อดิน จ.เชียงใหม่ ที่ได้ขยายสาขาไปยังประเทศอินโดนีเซีย, ก๋วยเตี๋ยวเรือเมืองปทุม ที่ได้รับการซื้อแฟรนไชส์ไปยังประเทศจีน, ผลิตภัณฑ์แฮนด์เมดจากไหมพรม “จุ๊บเจลเนอรัล” จากเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการติดต่อไปจำหน่ายในประเทศไต้หวัน, ขนมงาบ้านชานเมือง (เด็กดอย) จ.แม่ฮ่องสอน, หัตถกรรม “ผ้าตุ้มทอง” จ.บุรีรัมย์ กลุ่มวิสาหกิจไทเมืองเพีย จ.ขอนแก่น และขนมจีบป้าพิณ จ.ตรัง” นางลักขณากล่าว

ส่วนปีหน้า (2563) จะเปิดตัวโครงการ “เมืองสุขสยามอะคาเดมี” เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทยให้ก้าวสู่สากลอย่างเป็นรูปธรรม และตั้งเป้าหมายที่จะมีลูกค้าเดินเข้าสุขสยามเพิ่มอีก 30% และมีลูกค้าต่างชาติเพิ่มอีก จากการที่มีการร่วมมือกับกลุ่มบริษัททัวร์จัดโปรแกรมมาเที่ยว พร้อมกับมีร้านค้าใหม่ๆ เข้ามาเปิดหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีก และจะขยายช่องทางสู่ออนไลน์ด้วย


ความโดดเด่นของ “เมืองสุขสยาม” คือ การเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้ามานำเสนอสินค้าได้ตลอด 365 วัน อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ การผสมผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรและชาวบ้าน รวมถึงการสนับสนุนในการเรียนรู้กลไกการค้าปลีก และค้าส่งสู่ต่างประเทศ และการตลาดในรูปแบบใหม่อย่างครบวงจร (Omni Channel) ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจในกลไกของระบบนิเวศทางการค้าที่มีการบริหารจัดการสินค้าอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์นโยบาย ‘ประเทศไทย 4.0’ (Thailand 4.0) ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น

นางลักขณากล่าวเสริมว่า “เมืองสุขสยาม” ยังตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าชีวิตคนเมืองที่ต้องการความสะดวกสบาย โดยการคัดสรรสินค้าที่มีคุณค่าจากท้องถิ่นมาไว้ในที่เดียวกัน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะได้พบกับของกินของใช้ที่มาจากความพิถีพิถัน สะท้อนความงดงามของศิลปะและภูมิปัญญาดั้งเดิม ภายใต้บรรยากาศแห่งความสุข ได้สัมผัสกับเสน่ห์แห่งวิถีไทยแบบ “ครบจบในที่เดียว” อันประกอบด้วยพื้นฐานความเป็นไทยครบใน 7 สุข ได้แก่ “สุขแซ่บ” นำเสนอความหลากหลายของอาหารเลิศรสในแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร “สุขเสน่ห์” นำเสนอเสน่ห์ของคนไทยที่ยากจะลอกเลียน รวมไปถึงความสวยงามของสถาปัตยกรรมต่างๆ “สุขสร้างสรรค์” การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ของความเป็นไทยให้เกิดขึ้น “สุขสืบสาน” การสืบสานและสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนไทยภาคต่างๆ “สุขสัมพันธ์” การสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรื่องราวทางวัฒนธรรมระหว่างชุมชน และ ”สุขสนุก” นำเสนอความสนุกสนานร่าเริงของคนไทย เมื่อรวมทั้ง 7 สุขเข้าด้วยกัน จึงหมายถึง “สุขสยาม” โดยทุกอย่างต้องเป็นของแท้และเป็นต้นตำรับดั้งเดิมที่แท้จริง เพื่อประกาศความภาคภูมิใจให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ และระดับโลก




กำลังโหลดความคิดเห็น