เป็นที่รับทราบกันทั่วไปว่าเศรษฐกิจไทยที่กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายปี 2562 คงจะทำให้ภาพรวมตลอดทั้งปีไม่ได้สดใสเหมือนกับที่มีการตั้งเป้าหมายกันไว้ตั้งแต่แรกมากนัก แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไปภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วนจากปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ตอบโต้กันไปมาจนกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ทั้งนี้ ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เองก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2562 ที่จะเติบโตเพียง 2.6% ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตในระดับ 3% หากเทียบกับการเติบโตของจีดีพีในช่วงที่ผ่านมาก็พบว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี แต่ได้มีการคาดการณ์ว่าจีดีพีปี 2563 เฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.2% เมื่อเทียบกับปี 2562
สำหรับตัวเลขการส่งออกนั้น สศช.มองว่าปี 2563 จะเติบโต 2.3% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งก็ใกล้เคียงกับตัวเลขกระทรวงพาณิชย์ที่มองว่าในปี 2563 การส่งออกของไทยน่าจะขยายตัวได้อย่างน้อย 2% จากปีนี้ที่คาดว่าการส่งออกจะติดลบ 1.5-2% จากเดิมที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 0% ซึ่งตัวเลขเหล่านี้หากโฟกัสไปที่ภาคเอกชนล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เองก็ยอมรับในทิศทางที่สอดคล้องกันว่าส่งออกคงจะอยู่ในกรอบที่ กกร.ได้ประเมินไว้ว่าจะเติบโต -2% ถึง 0% จีดีพีจะโต 2.7-3% ขณะที่มองว่าเศรษฐกิจปี 2563 ของไทยน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากปีนี้แต่ไม่ได้ระบุตัวเลขอย่างเป็นทางการ
เปิดปัจจัยเสี่ยง-หนุนเศรษฐกิจไทยปี 63
ภาคเอกชนโดยเฉพาะจาก “กกร.” และสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ (สรท.) ต่างก็มองในเรื่องของปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการส่งออกในปี 2563 ในทิศทางที่สอดคล้องกันนั่นคือ ปัจจัยความเสี่ยงจากภายนอกซึ่งคงหนีไม่พ้นสงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่คาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปเพราะสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่ไม่เพียงลดการขาดดุลทางการค้ากับจีนเท่านั้นแต่จะกดดันไม่ให้เศรษฐกิจจีนโตเร็วจนนำไปสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกได้ดังนั้นสงครามการค้า หรือ Trade War ครั้งนี้จึงเป็นยังกลายเป็นเรื่องของ Tech War ที่จะส่งผลให้สงครามดำเนินต่อไปโดยไร้วี่แววว่าจะหยุดเมื่อใดแน่ ด้วยปัจจัยนี้เองทำให้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 จะเติบโตเพียง 3% หรือเติบโตต่ำสุดตั้งแต่หลังวิกฤตการเงินโลก
ปัจจัยเสี่ยงอีกตัวหนึ่งคงหนีไม่พ้นภาวะค่าเงินบาทของไทย ที่ภาคส่งออกต่างร้องระงมกันมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงท้ายปี 2562 เนื่องจากมีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่สำคัญคงหนีไม่พ้นแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้า ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกลดลง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 62 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายมาเหลือ 1.25% และยังมีการปรับปรุงเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงิน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าค่าบาทจะอ่อนมาได้แค่เล็กน้อยที่สุดก็ยังคงเคลื่อนไหวกลับมาแข็งเหมือนเดิม มีการประเมินกันว่าปี 2563 ค่าเงินบาทของไทยคงไม่ได้เห็นการอ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 34-35 บาทต่อเหรียญฯ เช่นอดีตอีกแล้ว คาดว่าจะแข็งค่าในระดับ 30-31 บาทต่อเหรียญฯ โดยเฉลี่ย เหตุผลสำคัญยังคงมาจากการที่ไทยอยู่ในภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด
ปัจจัยหลักๆ ที่ถือเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกไทยก็เรียกว่าไม่ต่างจากปีนี้ แต่ก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่เริ่มเห็นเค้าลางจากที่หลายคนมองว่าปี 63 ไทยอาจเผชิญปัญหาภัยแล้ง ที่จะกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของไทยโดยรวมซึ่งนั่นจะยิ่งกดดันรายได้ของภาคเกษตรกรให้ลดลงซึ่งจะสะท้อนมายังกำลังซื้อของประเทศได้ ซึ่งจำเป็นที่ภาครัฐและทุกฝ่ายต้องเตรียมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ
ขณะที่หันมามองในแง่ของปัจจัยบวกกลไกอื่นๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจความหวังของภาคเอกชนน่าจะโฟกัสไปที่นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่หวังว่าจะมีออกมาเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 รวมไปถึงการเติบโตของการท่องเที่ยว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น
“ผมคิดว่าเศรษฐกิจปี 63 นั้นจะดีกว่าปีนี้ เพราะรัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ (ทั้ง 3 เฟส) มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร ฯลฯ แต่เห็นว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ควรที่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 1 ปีหน้าปรับตัวดีขึ้น” นายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวในการประชุม กกร. เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.
โดย กกร.ได้เสนอแนะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น มาตรการช้อปช่วยชาติ โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค (ยกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น สุรา ยาสูบ เป็นต้น) รวมทั้งของขวัญปีใหม่ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท, มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และของนิติบุคคลไม่เกิน 1.5 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง
เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน โดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ ใช้ผู้รับเหมาจากในพื้นที่เท่านั้น (Local to Local), เร่งรัดการคืนภาษี VAT ทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการให้รวดเร็วขึ้น ส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออกที่เป็น SMEs ขายสินค้าเป็นเงินบาท ขณะเดียวกันยังมีข้อเสนอแนะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs
ธุรกิจปี 63 ปรับตัวหันพึ่งเทคโนโลยี
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจปี 2563 นั้นต้องยอมรับว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ธุรกิจไทยเองจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ของโลก เพิ่มศักยภาพการแข่งขันและลดต้นทุนด้วยการนำระบบไอที ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ มาปรับใช้ รวมถึงระบบการค้าขายที่ต้องหันมาเป็นระบบออนไลน์มากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เชื่อว่าแนวโน้มเหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง
“นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ให้หันมาปรับใช้เทคโนโลยีในการสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนในอนาคตนั้นเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนสนับสนุนและต้องการให้การขับเคลื่อนไปในทิศทางที่วางไว้ การปรับตัวเพื่อรองรับกับปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยาว เป็นสิ่งที่เอกชนไม่ว่าจะเป็นรายเล็กและรายใหญ่เองก็ต้องดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะอยู่ยาก เพราะปี 2563 ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่จึงต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น” นายสุพันธุ์กล่าว
มองจากเอกชนแล้ว ลองมาดูมุมมองจากภาครัฐผ่าน “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ที่ล่าสุดได้ระบุผ่านเวทีการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดเพราะยังสามารถขยายตัวได้ 2.4% หากแต่มีอัตราการขยายตัวที่ลดลงจึงไม่ได้ย่ำแย่ถึงขั้นติดลบ ซึ่งเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวมาจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีผู้ว่างงาน 300,000-400,000 คน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานทั้งประเทศ 37 ล้านคน คิดเป็นเพียง 1% อัตราการว่างงานต่ำสุดในโลก และยืนยันกับภาคเอกชนว่ารัฐพร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้และกำลังซื้อ และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบ
ดังนั้น เศรษฐกิจไทยปี 2563 แม้ว่าจะยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศที่ไทยไม่อาจควบคุมได้ แต่ปัจจัยภายในนั้นสามารถควบคุมหรือดูแลให้ผลกระทบเกิดขึ้นไม่รุนแรงได้ การปรับตัวของภาคธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้รับกับเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับการปรับมาตรการและนโยบายของภาครัฐต้องรวดเร็วและทันสถานการณ์เพื่อให้เป็นยาแรงในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยยังคงก้าวต่อไปก็ยังคงเป็นความหวังที่สำคัญที่ทั้งธุรกิจและประชาชนเฝ้ารอติดตาม