“สนธิรัตน์” เร่งเครื่อง Energy for All ปี 63 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากหวังลดค่าครองชีพคนไทยทั้งปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ก๊าซฯ ดึงไฟสำรอง 30% ลดค่าไฟกดค่าตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าบนดินใต้ดินลดลง ดันราคาสินค้าเกษตรมุ่งเป้าปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ผุดโรงไฟฟ้าชุมชน 7-8 หมื่นล้าน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงปาฐกถาพิเศษ “นโยบายพลังงานเพื่อทุกคน” ในงานสัมมนาการสื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ว่า ได้มอบหมายให้ข้าราชการกระทรวงฯทุกภาคส่วนโดยเฉพาะพลังงานจังหวัดขับเคลื่อนนโยบายพลังงานทีมุ่งเน้นพลังงานเพื่อทุกคนหรือ Energy for All ที่มีเป้าหมายระยะสั้นในปี 2563 ให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เป็นรูปธรรมได้แก่ การลดค่าครองชีพของประชาชนด้านพลังงาน โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซให้เกิดความเป็นธรรม รวมถึงเตรียมที่จะดึงไฟฟ้าสำรองที่เหลือเกินความต้องการใช้ราว 30% มาลดค่าไฟให้กับระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องนำมาลดค่าบัตรโดยสารให้กับผู้บริการ
“เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อย่างเป็นระบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน ส่วนสำรองไฟที่เหลือที่จะส่งผ่านมายังระบบขนส่งสาธารณะก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าซึ่งเป็นทิศทางในอนาคต” นายสนธิรัตน์กล่าว
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการยกระดับราคาสินค้าเกษตรผ่านกลไก 3 มิติ ได้แก่ 1. พืชที่จะนำมาเป็นพลังงานชีวภาพ (ไบโอดีเซล เอทานอล) ขณะนี้ได้กำหนดให้ดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานเริ่ม 1 ม.ค. 2563 แล้วที่จะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อยกระดับราคาปาล์ม ต่อไปจะทำในเรื่องของอ้อยและมันสำปะหลังในส่วนของเอทานอลที่จะผสมเบนซินเพื่อยกระดับน้ำมันอี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานซึ่งเบื้องต้นอาจจะต้องมีการลดชนิดน้ำมันกลุ่มเบนซินลง 1 ประเภท มิติที่ 2 ว่าด้วยพืชที่จะส่งเสริมการปลูกเพื่อนำมาเป็นพลังงานโดยเฉพาะเช่น ไผ่ หญ้าเนเปียร์ ซึ่งถือเป็นความท้าทาย และ 3. วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มด้านพลังงานเช่น ซังข้าวโพด
ขณะเดียวกัน ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากโดยจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณา 16 ธ.ค.นี้ โดยคาดว่าปี 63 จะเกิดขึ้นเฟสแรกทำให้เกิดการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าราว 7-8 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ใน 3 ปี โดยรูปแบบจะมีหลายรูปแบบกำหนดให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมขายไฟเข้าระบบได้ (On Grid) และมีการรับซื้อเชื้อเพลิงจากภาคเกษตรที่เป็นระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ฯลฯ
พร้อมกันนี้ยังมุ่งการผู้มีเอกสารสิทธิที่ถูกต้องมีไฟฟ้าใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งพื้นที่บริเวณชายขอบ ชายแดน ปลายสายส่งไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยอยู่ระหว่างการจัดทำกรอบการสนับสนุนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงการพัฒนาสถานีพลังงานชุมชนที่ไม่ขายไฟผ่านการไฟฟ้าหรือ Off grid โดยใช้โมเดลการพัฒนาชุมชนของ จ.กาญจนบุรี เป็นแนวทางในการดำเนินงานที่สามารถนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ และเชื้อเพลิงฟอสซิลมาบริหารจัดการในกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานและสร้างรายได้ต่อยอดอาชีพของชุมชน
นายสนธิรัตน์ยังกล่าวถึงการขับเคลื่อนพลังงานต้องมองในเรื่องของความมั่นคงระยะยาวแม้ว่าพลังงานทดแทนจะมีศักยภาพมากขึ้นแต่ยังคงมีราคาที่สูงและยังไม่มั่นคงดังนั้นต้องใช้โอกาสทางยุทธศาสตร์ของไทยในการก้าวสู่ฮับภูมิภาค (Hub) ทั้งการซื้อขายไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และรวมถึงการเจรจาเพื่อการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่มีความมุ่งมั่นจะเกิดขึ้นในปี 2563