xs
xsm
sm
md
lg

ไทยได้รับเลือกเป็นคณะมนตรีองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 8

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และนายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วยผู้แทนจาก กทท. กรมเจ้าท่า สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน เข้าร่วมประชุมสมัชชาสมัยสามัญองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ครั้งที่ 31 ณ สำนักงานใหญ่ IMO กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซี่งมีการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO Assembly) วาระปี 2020-2021


ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเลือกจากประเทศสมาชิก IMO ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี IMO กลุ่ม C ด้วยคะแนนเสียง 127 เสียงจากรัฐสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมด 165 ประเทศ สูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และเป็นอันดับที่16ของประเทศที่ได้รับเลือกทั้งหมด 20 ประเทศ) ส่งผลให้ประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี IMO ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 8 จากการที่ไทยมีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศในด้านกิจการทางทะเล


ในการเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวย้ำกับที่ประชุมฯ ถึงความมุ่งมั่นของไทยในด้านกิจการทางทะเลและการส่งเสริมผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันของรัฐสมาชิก โดยไทยจะสานต่อบทบาทที่เข้มแข็งและสร้างสรรค์ในกรอบ IMO ทั้งการรณรงค์เรื่องการกำจัดขยะในทะเล การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN Sustainable Development Goals : UN SDGs) ที่เกี่ยวกับประเด็นทางทะเล รวมทั้งส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันในอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือในห่วงโซ่การผลิตของโลก ด้วยเจตนารมณ์หลักที่มุ่งหมายให้การเชื่อมโยงทางทะเลเป็นไปด้วยความมั่นคง ปลอดภัย สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีของ IMO อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 โดย IMO เป็นทบวงการชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ในการกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก


ทั้งนี้ ในส่วนของความร่วมมือเชิงวิชาการ (Technical Cooperation ของ IMO) กทท. ร่วมกับกรมเจ้าท่า และกระทรวงคมนาคม ได้จัดสัมมนา ฝึกอบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการทั้งในระดับภูมิภาค (Regional activity) และระดับประเทศ (National activity) ในด้านความปลอดภัย การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง การอนุวัติการอนุสัญญา IMO (Implementation of IMO Instruments)


กำลังโหลดความคิดเห็น