นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ นายทวี เกศิสำอาง รักษาการ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เร่งศึกษา ข้อกฎหมาย ในการแบ่งรายได้ ที่จัดเก็บจากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge : PSC) สนามบิน 6 แห่งของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไม่เกิน 10% เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน เพื่อนำไปพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาคของ ทย. ทั้ง 28แห่ง โดยให้เร่งหารือกฤษฎีกา เพื่อให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากยังมีข้อสงสัยว่า สนามบินนั้นหมายถึงสนามบินทั้งหมดหรือไม่ คือ สนามบินของ ทย. 28 แห่ง และสนามบินของ ทอท.อีก 6 แห่ง รวมถึงสนามบินของเอกชนด้วย
ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2562 มาตรา 60/42 ที่กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารสนามบินที่ใช้เพื่อสาธารณะเป็นการทั่วไป รัฐมนตรีมีอำนาจให้เจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกในอัตราไม่เกินร้อยละ10 เข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียน กรมท่าอากาศยาน ตามมาตรา 60/44
รมว.คมนาคมกล่าวว่า หากแบ่งรายได้จากค่า PSC สนามบิน 6 แห่งของทอท. ที่อัตรา 10% คาดว่าจะมีรายได้เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานประมาณ 2,600 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ปัจจุบัน กองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน มีรายได้จากสนามบินกระบี่ ประมาณ 546 ล้านบาทต่อปี เท่านั้น ดังนั้นรายได้ที่เข้ากองทุนเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่าเป็นอย่างน้อย จะทำให้สามารถมีเงินไปพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาคของทย. ทั้ง 29แห่ง ได้รวดเร็วกว่ารอ เงินงบประมาณจากรัฐบาล
ทั้งนี้หาก หารือกฤษฎีกาแล้วไม่มีปัญหา รมว.คมนาคม สามารถออกประกาศ ได้ ซึ่งก่อนจะออกประกาศ จะหารือกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดอัตราส่วนแบ่งที่เหมาะสม เนื่องจากกฎหมายกำหนดไม่เกิน 10% เป็นกฎหมายที่จะทำให้กองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานมีความเข้มแข็ง และทำให้การบริหารสนามบินของประเทศมีศักยภาพมากขึ้น โดยมี 2 หน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อน โดย กรมท่าอากาศยาน บริหารดูแลสนามบินเชิงสาธารณะ ส่วนทอท.ให้บริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งเมื่อสนามบินทอท.บริหารแล้ว มีผลประกอบการที่ดี ให้นำเข้ากองทุนฯ เพื่อพัฒนาสนามบินทั่วประเทศ
“หากได้ข้อสรุป ทอท. จะต้องนำเรื่องเข้าประชุมผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นกฎหมายที่ต้องทำตาม ทอท.ไม่น่ามีปัญหา และเห็นว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทอท.เมื่อเทียบกับรายได้ของทอท. แต่ละปี ซึ่งทอท.มีโบนัสกว่า 7 เดือน ขอให้ได้คำตอบชัดเจนก่อน ส่วนจะแบ่งกี่เปอร์เซ็นต์ จะหารือกันอีกที ผมคงไม่ได้ใช้อำนาจรมต.ไปหักใคร หรือบังคับให้ทอท.ต้องจ่ายเท่านั้น เท่านี้ เดี๋ยวพนักงานทอท.มาเดินขบวนไล่ผม“
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกฎหมาย การสอบถามกฤษฎีกาเพื่อความชัดเจนว่าไม่ได้ตีความกฎหมายผิด เนื่องจากกรณีดังกล่าว อยู่ในพ.ร.บ.การเดินอากาศ นานแล้ว ก่อนมีการแก้ไข ปรับปรุง แต่ไม่มีการนำมาใช้และรมว.คมนาคมไม่เคยมีการออกประกาศมาก่อน หากมองในมุมพัฒนาประเทศโดยรวม เช่น สนามบินตรัง ตอนนี้มีรันเวย์ ยาว 2,100 เมตร แต่หากเพิ่มเป็น 2,400 เมตร เครื่องบินลำใหญ่จะลงได้ จะช่วยด้านเศรษฐกิจได้อีก แต่รอ งบประมาณ ดังนั้นไม่อยากให้ยึดติดว่าจะต้องเก็บอะไรไว้ หรือไม่ให้อะไร หรือในอนาคตหากมีการโอนสนามบิน ของทย. ให้ทอท. เช่นอุดรธานี สามารถนำรายได้ PSC มาแบ่งให้กองทุนฯได้
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) กล่าวว่า เงินกองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน มีวัตถุประสงค์ ทย.จะนำมาใช้สำหรับการพัฒนา กรณีที่ ได้รับงบประมาณล่าช้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการให้บริการซึ่งในกฎหมายเดิม กำหนดว่าผู้ทีดำเนินการสนามบินอนุญาต คือ จัดตั้งตามกฎหมาย ได้รับใบอนุญาตจาก กพท. ได้รับประกาศโดยรมว.คมนาคม ซึ่งถือว่าสนามบินทุกแห่งในประเทศ อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ซึ่งสนามบินของทอท. ส่วนใหญ่เป็นสนามบินที่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้และเป็นสนามบินที่ได้รับโอนจาก ทย. ดังนั้นหลักการของกฎหมายคือสามารถระดมเงินจากสนามบินอนุญาตได้ ลักษณะ เอาเงินจากคนรวยไปช่วยคนจน
สนามบินส่วนใหญ่ ก่อสร้างเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเดินทาง ดังนั้นต้องก่อสร้างและให้บริการแม้ว่าจะขาดทุน จึงมีกองทุนฯ และรายได้ที่จะนำมาเข้ากองทุน กฎหมายกำหนดว่ามาจาก ค่า PSC ซึ่งปัจจุบัน ทอท.จัดเก็บค่า PSC จากผู้โดยสารต่างประเทศ 700 บาท ผู้โดยสารในประเทศ 100 บาท ขณะที่ ทย.จัดเก็บ 400 บาทและ 50บาท ตามลำดับ
“พ.ร.บ.การเดินอากาศ เปิดช่องมานานแล้ว ให้อำนาจรมว.คมนาคมออกประกาศได้ โดยแบ่งรายได้ไม่เกิน 10% แต่ไม่เคยมีการดำเนินการ”