“ถาวร” ลั่นไม่ให้ 4 สนามบิน สั่ง ทย.เดินหน้า ลงทุนพัฒนาตามแผน ปี 63 อัดงบ 6 พันล้านยกเครื่อง ขยายอาคารและลานจอด ขณะที่เจรจา “ธนารักษ์” ขอนำรายได้ค่าเช่าพื้นที่ปีละกว่า 100 ล้านเข้ากองทุนนำไปใช้ปรับปรุงสิ่งอำนวยสะดวก
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมท่าอากาศยาน (ทย.) ครบรอบ 86 ปี ว่า ทย.มีแผนพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยาน 29 แห่ง ระยะ 10 ปี วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีการปรับปรุงแผน และวงเงินลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินบุรีรัมย์ เพื่อรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เติบโตสูงขึ้น เพิ่มงบลงทุนอีกกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นต้น นอกจากนี้ มีนโยบายเร่งเปิดใช้สนามบินเบตงในภายปี 2563 ให้เร็วที่สุด
ในปี 2563 ทย.มีงบลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 คาดว่าจะเหลือเวลาในการใช้จ่ายประมาณ 8 เดือนก่อนสิ้นปีงบประมาณ ดังนั้น จึงให้ ทย.เตรียมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้ให้พร้อมเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีที่ได้รับงบประมาณ ซึ่งในปี 63 จะมีการลงทุนพัฒนาสนามบินประมาณ 6 แห่ง เช่น การจัดซื้อครุภัณฑ์ สนามบินนราธิวาส และเบตง, การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร ลานจอด และหลุมจอด ที่สนามบินตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่ และสุราษฎร์ธานี
ส่วนกรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เสนอขอรับโอนสนามบินในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน จำนวน 4 แห่ง คือ กระบี่ อุดรธานี ตาก บุรีรัมย์ นั้น นายถาวรกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยังไม่มีการพิจารณาใดๆ และไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องยกให้ ทอท. ขณะที่ ทย.กำลังเดินหน้าแผนพัฒนาสนามบินตามแผนอย่างเต็มที่
ซึ่งการโอนสนามบินของ ทย.ที่เป็นของรัฐไปให้ ทอท.ต้องพิจารณาหลายประเด็นตั้งแต่กฎหมาย ซึ่งตรวจสอบแล้วไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ในแง่การให้บริการ ปัจจุบันมั่นใจว่ากรมท่าอากาศยานมีความเป็นมืออาชีพในการบริหารสนามบิน แต่หาก ทอท.ต้องการเข้ามาบริหาร ต้องดูต่อไปว่าจะเข้ามาอย่างไร ต้องเปิดกว้างหรือไม่ และ ทอท.เป็นผู้จ่ายผลตอบแทนสูงสุดหรือไม่ เพราะหากจะให้เอกชนบริหาร นอกจากทอท.แล้ว ยังมีเอกชนอีกหลายรายที่สนใจ
“หากบอกว่าสนามบินของ ทย.บริการไม่ดี และต้องโอนให้ ทอท.ต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน ซึ่งสนามบินของ ทย.เป็นบริการของรัฐเพื่อประชาชน เก็บค่าใช้บริการจากผู้โดยสาร (PSC) ในประเทศ 50 บาท ส่วน ทอท.เก็บ 100 บาท นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยแบ่ง 30% สำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งในเดือน ธ.ค. 2562 ทย.จะทำเอ็มโอยูกับกรมหม่อนไหม และการยางแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริม จำหน่ายผ้าไหม และผลิตภัณฑ์จากยางพารา ส่วนอีก 70% เป็นพื้นที่สำหรับการจำหน่ายสินค้าที่ได้รับความนิยม”
ด้านนายวิทวัส ภักดีสันติสกุล รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทย.มีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงอากาศยาน (Landing Fee) และค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน (Parking Fee) และค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของผู้โดยสาร (PSC) โดยจัดเก็บเข้ากองทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสาร โดยกองทุนมีวงเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนค่าเช่าพื้นที่ปีละกว่า 100 ล้านบาทจะต้องนำส่งกรมธนารักษ์ ซึ่งกำลังเจรจากับกรมธนารักษ์ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเพื่อขอนำรายได้ค่าเช่าพื้นที่เข้ากองทุนหมุนเวียน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.เดินอากาศ พ.ศ. 2562 ที่ให้สามารถดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 จำนวนผู้โดยสารรวมสนามบินทั้ง 28 แห่งอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านคน ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2561 เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนลดลงประมาณ 30% ขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรปยังเติบโตตามปกติ