xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด ทอท.เคาะปรับแผนแม่บทใหม่ ลุย “เทอร์มินัล 2 ด้านเหนือ” สร้างในเฟส 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ ประธาน วันนี้ (20 พ.ย.) ได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและเห็นชอบโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ลงทุนประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาระยะที่ 3 โดยหลังจากนี้ฝ่ายบริหาร ทอท.จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 ทอท.ได้มีการปรับปรุงแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ โดยได้หารือกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (กยผ.) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และ สศช. ในการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตามแผนแม่บท (ฉบับ พ.ศ. 2561) โดยที่ประชุมเห็นว่าแผนแม่บทเป็นการวางแผนระยะยาว สามารถปรับปรุงได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง ทอท.ต้องพิจารณารายละเอียดให้รอบด้าน คำนึงถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารของสุวรรณภูมิ และพิจารณาความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการที่ปรึกษาท่าอากาศยาน (Airports Consultative Committee : ACC) และคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ (Airline Operators Committee : AOC) โดยที่ผ่านมา ทอท.ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการ ACC ในปี พ.ศ. 2562 จำนวน 7 ครั้ง และ ทอท.ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บท (พฤศจิกายน 2562) ตามความเห็นของ ACC และแนวทางการจัดทำแผนแม่บทท่าอากาศยานตามคู่มือการพัฒนาท่าอากาศยาน (Airport Development Reference Manual : ADRM) ของ IATA รวมทั้งได้จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ตามแนวทางที่ ACC ได้ให้ความเห็นไว้ โดยมีสาระสำคัญของแผนแม่บท (พฤศจิกายน 2562) คือ

1. ปรับปรุงข้อมูลการเชื่อมท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : ECC)

2. ปรับปรุงข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณการขนส่งทางอากาศให้เป็นปัจจุบัน โดยคำนึงถึงปริมาณผู้โดยสารส่วนที่เกินขีดความสามารถของท่าอากาศยานดอนเมืองในอนาคต

3. เพิ่มเติมข้อมูลการจัดสรรสายการบินที่ให้บริการประจำอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal Building : MTB) อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) และส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ตามที่ ACC ได้ให้ความเห็น

4. เพิ่มเติมข้อมูลการกำหนดทางเลือกในการจัดวางอาคารผู้โดยสารเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้งาน

และ 5. ปรับลำดับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ (Phasing) ให้มีขีดความสามารถสอดคล้องกับปริมาณ การขนส่งทางอากาศ ดังนี้ ระยะที่ 1 ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสาร และทางวิ่ง 2 เส้น (ปัจจุบัน) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบิน 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560 ประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ทสภ.ได้ 60 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง กำหนดแล้วเสร็จปี 2563

ระยะที่ 3 (ดำเนินการระหว่างปี 2559-2565) ประกอบด้วย การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินได้ 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

ระยะที่ 4 (ดำเนินการระหว่างปี 2564-2569) ประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 105 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินได้ 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

ระยะที่ 5 (ดำเนินการระหว่างปี 2568-2573) ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ และการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินได้ 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และการพัฒนาเพิ่มเติม

โดยการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกในอาคารผู้โดยสารในระยะท้ายสุดของแผนพัฒนา เพื่อลดผลกระทบจากการก่อสร้างต่อการให้บริการในอาคารผู้โดยสารในปัจจุบัน

@ลดค่าแลนดิ้ง 50% ให้เช่าเหมาลำกระตุ้นท่องเที่ยวช่วง 5 เดือน

นอกจากนี้ บอร์ด ทอท.ยังอนุมัติการให้ส่วนลดค่าบริการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Fee) แก่เที่ยวบินเช่าเหมาลำระหว่างประเทศ (International Chartered Flight) เพื่อการขนส่งผู้โดยสาร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562-30 เม.ย. 2563 สำหรับสนามบิน 6 แห่งของ ทอท. ภายใต้โครงการกระตุ้นตลาดด้านการบินและการท่องเที่ยวไทยระยะสั้น ซึ่งในปี 62 พบว่าการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวระหว่างประเทศเติบโตลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ ตลาดอินเดีย และรัสเซีย


กำลังโหลดความคิดเห็น