xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ลุยสร้างเทอร์มินัลด้านเหนือ ชงบอร์ด 20 พ.ย. ยัน ICAO แนะนำ-ผู้ใช้บริการร้องขอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ทอท.ยันเดินหน้าเทอร์มินัลต่อขยายด้านทิศเหนือ ทำตามแผนแม่บทฉบับที่ 5 ที่ปรับปรุงตามคำแนะนำ ICAO และผู้ใช้บริการ “นิตินัย” เผยชงบอร์ด 20 พ.ย.นี้. ตั้งเป้าสร้างเสร็จปี 67 เพิ่มขีดสุวรรณภูมิรับ 100 ล้านคน หมดปัญหาแออัด แจง วสท.พื้นที่ 2 หมื่นไร่ จำนวน 4 รันเวย์ รองรับ 150 ล้านคนได้

วันนี้ (15 พ.ย.) นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้แถลงข่าวถึงการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะก่อสร้างบริเวณ Concourse A Annex ว่า ทอท.ได้มีการศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ ทอท.ได้รวบรวมข้อคิดเห็น และตอบข้อซักถามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมให้ครบถ้วน รอบด้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจ ตามข้อสั่งการของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ขณะนี้ ทอท.ได้รวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วนแล้ว และยืนยันว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการลงทุนของประเทศทุกขั้นตอน โดยฝ่ายบริหาร ทอท.จะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ โดยหากบอร์ด ทอท.เห็นชอบจะนำเสนอกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อกลั่นกรองความเหมาะสม และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ทั้งนี้ หากได้รับการอนุมัติ คาดว่าการก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีเศษแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2566-2567

“วันนี้ถือว่าหมดหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ทอท.แล้ว หลังจากนี้อยู่ที่บอร์ดจะเห็นชอบหรือไม่ หากเห็นชอบจะเสนอตามขั้นตอนไปยังคมนาคมและ ครม.ต่อไป เป็นขั้นตอนปกติเหมือนกับหน่วยงานอื่นๆ ทำโครงการใหญ่“

นายนิตินัยกล่าวถึงกรณีที่ระบุว่า ทอท.ไม่ปฏิบัติตามแผนแม่บทเดิมนั้น ยืนยันว่า ทอท.ปฏิบัติตามหลักการของแผนแม่บทเดิม ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงทุก 5 ปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจการบินที่เปลี่ยนแปลงไป ตามข้อแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) ซึ่งเป็นแผนแม่บทฉบับที่ 5

ICAO ได้ปรับปรุงแผนแม่บทตามเกณฑ์กรอบระยะเวลาในปี 2554 ซึ่งเป็นภาวะที่สนามบินสุวรรณภูมิ รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถ ICAO ได้แนะนำว่า

“จากข้อเสนอเดิมที่ให้ขยายอาคารที่ปลายทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกนั้น จะยากมากสำหรับการดำเนินการเมื่ออาคารยังถูกใช้งานที่เต็มขีดความสามารถอยู่ ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาคือการย้ายกระบวนการผู้โดยสารในประเทศไปยังบริเวณอื่น และปรับบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศทดแทน ซี่งจะส่งผลกระทบต่อการบริการน้อยกว่า”

และแนะนำเพิ่มเติมว่า “วิธีการที่ดีที่สุดในระยะสั้น คือ การพัฒนาอาคารที่แยกเป็นอิสระต่อเนื่องกับอาคารเทียบเครื่องบิน A เพื่อรองรับผู้โดยสารในประเทศทั้งขาเข้าและขาออก”

นายนิตินัยกล่าวว่า ไม่ใช่แผนแม่บทเมื่อ 16 ปีก่อนไม่ดี แต่เพราะการก่อสร้างช้ากว่าแผน และบริบทของโลกเปลี่ยน เดิมกำหนดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT 1) รองรับผู้โดยสาร Transit (แวะพักระหว่างทาง) และ Transfer (ต่อเครื่องบินระหว่างทาง) แต่สถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีสัดส่วนเพียง 1.7% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 65 ล้านคน

ดังนั้น ปัญหาแออัดจึงอยู่ที่พื้นที่เช็กอิน พื้นที่ตรวจคนเข้าเมือง ภายในอาคารผู้โดยสารหลัก (เทอร์มินัล 1) การมีอาคารใหม่แยกอิสระเพื่อเพิ่มเคาน์เตอร์เช็กอินจึงตอบโจทย์

ทั้งนี้ การที่ ICAO ให้ขยายอาคารหลักด้านตะวันออกและตะวันตก เพราะเห็นว่า ทอท.จะก่อสร้างได้ตามกรอบเวลา แต่เมื่อล่าช้า บริบทการบินเปลี่ยน ดังนั้น เงื่อนไขเรื่องสนามบินเดี่ยว (Single Airport) จึงไม่ใช่ประเด็นแล้ว วันนี้ต้องดูเรื่องความแออัด และการขยายอาคารด้านตะวันออก และตะวันตก จะมีความยุ่งยาก ต้องปรับแผนปี 2554 ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

รวมถึงกรณี ICAO ให้ใช้อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือรับผู้โดยสารภายในประเทศนั้น ทอท.จำเป็นต้องปรับใหม่ เพราะแนวโน้มผู้โดยสารระหว่างประเทศเติบโตมาก ส่วนผู้โดยสารในประเทศโตลดลง ซึ่งทอท.หารือกับ ICAO, IATA, ผู้ใช้บริการ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันในการกำหนดเป็นอาคารแบบผสม

“ทอท.ยังยึดหลักการเดิมของ ICAO ที่แนะนำให้ต่อขยายอาคารเทียบเครื่องบิน A ออกไป ด้านทิศเหนือ และปรับวิธีการบริหารจัดการอาคารให้เหมาะสมกับจำนวนและแนวโน้มผู้โดยสาร ไม่ได้ดื้อแต่อย่างใด”

@ทอท.ชี้ตอนนี้ยังไม่ต้องการความเห็นทางวิศวกรรม

นายนิตินัยกล่าวว่า อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือเดิมออกแบบไว้ที่ 30 ล้านคนต่อปี แต่ล่าสุดปรับขยายขีดความสามารถเป็น 40 ล้านคนต่อปี โดยยืนยันว่าสามารถทำได้ ไม่มีปัญหาตามข้อกังวลในเวทีเสวนา ภายในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 แต่อย่างใด โดยวันนี้ ทอท.หารือกับทางสถาปนิก ซึ่งออกแบบว่ารับผู้โดยสารได้เท่าไร ส่วนปัญหารันเวย์ สะพานเทียบเครื่องบิน เรื่องการไหลเวียนของผู้โดยสารและเครื่องบิน ทาง IATA บอกว่าทำได้ เรายังไม่ได้ต้องการระดมสมองในเชิงวิศวกรรม ที่น่าจะเป็นการคำนวณการตอกเข็ม แรงอัดกระแทกเท่าไร

สำหรับขีดความสามารถสุวรรณภูมิปัจจุบันอยู่ที่ 45 ล้านคนต่อปี แต่มีผู้โดยสารจริง 65 ล้านคนต่อปี ขณะที่เฟส 2 จะขยายการรองรับเป็น 60 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วย อาคารหลังที่ 1 (45 ล้านคนต่อปี) อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (15 ล้านคนต่อปี) โดยจะเปิดให้บริการเดือน พ.ย. 2563

ส่วนอาคารต่อขยายด้านทิศเหนือจะรองรับได้ 40 ล้านคนต่อปี เพิ่มขีดรองรับผู้โดยสารของสุวรรณภูมิรวมเป็น 100 ล้านคนต่อปี คาดว่าก่อสร้างเสร็จปี 2567 ซึ่ง ทอท.คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 82 ล้านคนต่อปี เท่ากับความสามารถอยู่เหนือจำนวนผู้โดยสาร ไม่มีปัญหาแออัด

สำหรับการขยายอาคารหลักในฝั่งตะวันตก (West Expansion) และฝั่งตะวันออก (East Expansion) นั้น ยังคงเก็บไว้เป็นกรณีพิเศษ หากผู้โดยสารโตเกินความจุสามารถนำมาพัฒนาได้ทุกเมื่อ และยืนยันว่าภายใต้พื้นที่ 2 หมื่นไร่ และรันเวย์ 4 เส้น จะพัฒนาสุวรรณภูมิได้สูงสุดที่ 150 ล้านคนต่อปี

ทอท.ได้นำประเด็นการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภามาพิจารณาแล้ว พบว่าไม่มีผลกระทบที่เป็นนัยสำคัญ เนื่องจากอู่ตะเภาจะมีสัดส่วนผู้โดยสารเทียบกับสุวรรณภูมิและดอนเมืองประมาณ 2% ในปัจจุบัน และคาดว่าจะเป็น 8% เมื่ออู่ตะเภาขยายไปรับที่ 10 ล้านคนต่อปี




กำลังโหลดความคิดเห็น