“สมเจตน์-สามารถ” ชำแหละปม “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ” ทอท.พูดไม่หมด แปลถ้อยความ ICAO ไม่ครบ ชี้ ICAO ให้พัฒนาเทอร์มินัล 2 ตำแหน่ง Concourse A Annex แบบมีเงื่อนไข คือเป็นอาคารในประเทศ ให้เสร็จก่อนปี 2558 ย้ำเชิญ ทอท.ร่วมเสวนาแต่ไม่มา เลือกเปิดเวทีแถลงโต้ 15 พ.ย.
วันนี้ (14 พ.ย.) วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้จัดเสวนาเรื่อง “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ ‘หายนะ’ สุวรรณภูมิ?” ภายในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 (National Engineering 2019) โดยมีวิทยากร รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) และ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรผู้ร่วมจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ ร่วมเสวนา และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมจาก 12 องค์กรวิชาชีพ และสื่อมวลชนร่วมงาน
รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์กล่าวว่า การที่บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ระบุว่าแผนแม่บทพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเปลี่ยนมา 5 ครั้งนั้น ความจริงคือไม่เคยเปลี่ยน และขอชี้ให้เห็นถึงกรณีที่ ทอท.กล่าวอ้าง ประเด็นที่ 1 แผนผังแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิยังเหมือนเดิม แผนผังเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แผนแม่บทเป็นหนึ่งเดียว ไม่เคยเปลี่ยน 5 ครั้ง ตามที่ ทอท.บอก ซึ่งสามารถสอบถาม บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ผู้บริหารการจราจรทางอากาศได้ เพราะใช้แผนแม่บทเดียวกัน
2. ขณะที่ข้อมูลจาก ทอท.ที่เผยแพร่อย่างเป็นทางการนั้น ทอท.ระบุว่าตำแหน่งที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตัดแปะนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ระบุว่าเป็นพื้นที่สำหรับทำการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารได้ (Area reserved for optional terminal) และ Optional Terminal และ Concourse A Annex สามารถพัฒนาได้บนพื้นที่เดียวกัน ทอท.พูดรายละเอียดในสิ่งที่ ICAO แจ้งไว้ไม่ครบ หรือพูดไม่หมด
เพราะที่ ICAO ได้ตอบในการก่อสร้างอาคารในตำแหน่ง Concourse A Annex นั้น มีเงื่อนไขประกอบด้วย ได้แก่ ใช้ในกรณีที่บริหารสนามบินเดียว (Single Airport) แต่ปัจจุบันบริหารแบบสนามบินสุวรรณภูมิคู่สนามบินดอนเมือง (Duo Airport) และเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic) เป็นหลัก และหากจะสร้างจะต้องมีรันเวย์เพิ่มอีกกี่รันเวย์ จากผังรวม เท่ากับรันเวย์จะอยู่เลยนอกเขตสนามบิน ซึ่งจะต้องมีการถมคลองหนองงูเห่า และหากจะยึดตามคำแนะนำของ ICAO เมื่อปี 2554 ทอท.จะต้องก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ในตำแหน่งตัดแปะนี้ให้เสร็จก่อนปี 2558 วันนี้เท่ากับเป็นคนละเรื่องกันแล้ว
ทอท.ได้เคยแถลงข่าวว่า Optional Terminal และ Concourse A Annex เป็นพื้นที่เดียวกัน ทำให้ก่อสร้างอาคารตรงนั้นได้ โดยจะสร้างแบบที่ ทอท.ต้องการ แต่ข้อเท็จจริง ICAO ตอบว่าในการก่อสร้างอาคารตรงจุดนี้มีเงื่อนไข แต่หากจะทำนอกเหนือเงื่อนไขจะต้องศึกษากันใหม่ ดังนั้น ทอท.จะอ้าง ICAO โดยบิดเบือนข้อมูลไม่ได้ ถึงเวลาที่ต้องเอาความจริงทั้งหมดมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา อย่าบิดเบือน เนื้อหาที่ ICAO ส่งมามีถึง 200 กว่าหน้า ต้องอ่านให้ครบว่าเขาเขียนอะไรไว้ ถ้าเอาความจริงมาพูดบางส่วนก็ถือว่าโกหก ต้องเอาความจริงทั้งหมดมาพูดกัน ที่ผ่านมาหลายปีการขยายอาคารด้านตะวันออกได้รับอนุมัติงบประมาณมีแล้ว EIA ผ่านแล้ว ทำไมไม่เร่งทำ ทำไมเลือกที่จะทำ 4.2 หมื่นล้านบาท
“ในภาวะปัจจุบันเมื่อจะขยายสนามบิน สิ่งที่ ทอท.ต้องตอบ คือ ขีดความสามารถจะเป็นอย่างไร การใช้หลุมจอด รันเวย์จะเป็นอย่างไร การจราจรภายในสนามบินจะเป็นอย่างไร ยังมีผลกระทบต่อการบินไทยอีกด้วย สุวรรณภูมิเกิดและพัฒนาด้วยข้อมูลวิชาการและมีการศึกษารองรับ ไม่ใช่การให้ความเห็น”
ด้าน ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ กล่าวว่า ทำไม ทอท.จึงไม่ควรสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ เนื่องจากแผนแม่บทเดิมที่จัดทำเมื่อปี 2536 ไม่มีเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ โดยมีอาคารหลักผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) 2 อาคาร คือ เทอร์มินัล 1 ด้านเหนือ ฝั่งมอเตอร์เวย์ และเทอร์มินัล 2 ด้านใต้ ฝั่งถนนบางนา-ตราด มีรันเวย์ 4 เส้น รองรับผู้โดยสารได้ 100 ล้านคนต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีการก่อสร้างเทอร์มินัล 1 และมีรันเวย์ 2 เส้น รองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี
ส่วนกรณีรองรับ150 ล้านคนต่อปี ขีดความสามารถของพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิทำไม่ได้ เนื่องจากจะต้องมีรันเวย์ไม่น้อยกว่า 6 เส้น ซึ่งพื้นที่มีไม่เพียงพอก่อสร้าง ขณะที่ในพื้นที่โซนนี้ปัจจุบันมีแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาในพื้นที่อีอีซี มีขีดรองรับ 60 ล้านคนต่อปี มีสนามบินดอนเมือง รองรับได้ 40 ล้านคนต่อปี รวม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) รองรับได้ 200 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะรองรับได้ไปอีกเป็นสิบปี
ตามแผนแม่บท ทอท.ต้องขยายอาคารผู้โดยสาร 1 ด้านตะวันออก ซึ่งผ่านการอนุมัติแล้ว โดยให้เสร็จในปี 2560 แต่ไม่ทำ และเปลี่ยนมาพัฒนาเทอร์มินัลตัดแปะ และจะให้เสร็จภายในปี 2565 หรืออีก 3 ปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่มีแบบ EIA ยังไม่ผ่าน มีปัญหาอีกมาก และความจุ 30 ล้านคนต่อปี เป็นไปไม่ได้ภายใต้หลุมจอด 14 หลุม เคยขอรายการคำนวณ รองรับที่ 30 ล้านคนต่อปี ก็ไม่ได้
นอกจากนี้ ทอท.มักอ้างถึงรายงานศึกษาเมื่อปี 2554 ว่า ICAO เห็นชอบแผนเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ ในบริเวณผิดแผนแม่บท ซึ่งขอถามว่า ทอท.พูดความจริงหมดหรือไม่ ซึ่งเอกสารที่ ทอท.เผยแพร่เป็นการแปลที่ ICAO แนะนำจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ซึ่ง ICAO เขียนชัดเจนว่า “Domestic Terminal” แต่แปลเป็น รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี ไม่มีคำว่า “ภายในประเทศ”
ทำไมเป็นเช่นนี้ การเป็นอาคารภายในประเทศ กับระหว่างประเทศมีความแตกต่างกัน
ดร.สามารถกล่าวว่า พื้นที่และ Concourse A Annex ซึ่ง ทอท.จะสร้างเทอร์มินอลตัดแปะนั้นจะมีปัญหาในการก่อสร้าง ปัจจุบันใช้เป็นลานจอดเครื่องบิน ด้านใต้มีท่อน้ำมันมีสายไฟ เครื่องบินจะไม่มีหลุมจอดระหว่างก่อสร้าง ขณะที่อาคารนี้ เมื่อเช็กอินแล้วผู้โดยสารอาจจะต้องขึ้นเครื่องบินที่อาคารเทียบรองหลังที่ 1 ห่างออกไป 2.2 กม. ซึ่งหลังเช็กอินแล้วจะขึ้นรถไฟฟ้าภายใน (APPM) ถึง 2 สายในการเดินทางไปขึ้นเครื่อง และยังต้องมีการลงทุนมอเตอร์เวย์ชั้นที่ 2 วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท เพื่อลดความแออัดของมอเตอร์เวย์ปัจจุบัน
นอกจากนี้ สศช.เองไม่เห็นด้วยและมีหนังสือถึง ทอท.เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ไม่เห็นด้วยกับเทอร์มินัลตัดแปะ โดยให้ ทอท.พัฒนาตามแผนแม่บท คือ ขยายอาคาร 1 ด้านตะวันออกและตะวันตก ใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี เสร็จในปี 2565 เพิ่มความจุจาก 45 ล้านคนเป็น 75 ล้านคนต่อปี ซึ่งในปี 2565 ทอท.คาดว่าผู้โดยสารจะอยู่ที่ 73 ล้านคนต่อปี ยังเพียงพอ แต่เทอร์มินัลตัดแปะความจุไม่ถึง 30 ล้านคนต่อปี จะเสร็จปี 2568 ซึ่งผู้โดยสารในปีนั้นจะเพิ่มไปที่ 82 ล้านคนต่อปี ความจุจะไล่ตามผู้โดยสารไม่ทัน ใช้เงินมากกว่า ใช้เวลามากกว่า รองรับไม่พออีก
“วสท.เชิญ ทอท.แต่ไม่ส่งผู้แทนมาร่วมเสวนาครั้งนี้ แต่ใช้วิธีจะแถลงข่าว น่าเสียดาย น่าจะมาวันนี้เพื่อชี้แจงกันให้ชัดเจน” ดร.สามารถกล่าว
ทั้งนี้ ทอท.ได้แจ้งว่าจะจัดงานแถลงข่าวเรื่องการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เป็นผู้แถลงข่าว ในวันศุกร์ที่ 15 พ.ย. เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานใหญ่ ทอท.