xs
xsm
sm
md
lg

เทรดวอร์พ่นพิษ สศอ.หั่น MPI ปีนี้ -3.8% ปี 63 ลุ้นมาตรการกระตุ้น ศก.รัฐดันโต 2-3%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สศอ.” เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ต.ค.ดิ่ง 8.45% ปรับคาดการณ์ทั้งปีติดลบ 3.8% จีดีพีอุตฯ -1.2% ขณะที่คาดการณ์ปี 2563 MPI จะโตได้ 2-3% จีดีพีอุตฯโต1.5-2.5% จากมาตรการกระตุ้น ศก.รัฐ

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 62 อยู่ที่ 95.7 หดตัว 8.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 104.5 ซึ่งยังคงมาจากผลกระทบจากสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นสำคัญ ส่งผลให้ สศอ.ได้ปรับคาดการณ์ MPI ปี 2562 ที่คาดว่าจะติดลบ 3.8% และผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรม -1.2% ต่ำกว่าเมื่อเดือน ส.ค.ที่คาดการณ์ไว้ว่าทั้ง MPI และจีดีพีอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 0-1% อย่างไรก็ตาม ได้ประเมิน MPI ปี 2563 จะโตได้ 2-3% จีดีพีภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1.5-2.5% เนื่องจากปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ นักลงทุนจากจีนที่เริ่มย้ายฐานเข้ามาในไทย เป็นต้น

“จากสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัวในภาพรวม ทำให้ MPI เดือน ต.ค.หดตัว 8.45% ซึ่งการหดตัวแรงส่วนหนึ่งมาจาก 2 โรงกลั่นในประเทศหยุดซ่อมบำรุง หากตัดส่วนนี้ MPI จะหดตัวเพียง 5.77% อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้การผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกหดตัว อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ต.ค.เฉลี่ยอยู่ที่ 62.83%” นายอดิทัตกล่าว

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมที่จะขายตัวได้ในปี 2563 ที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารจากความต้องการบริโภคของต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในตลาดหลักรองรับอานิสงส์ของญี่ปุ่นที่จะเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 และตลาดจีนที่มีคำสั่งซื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปีหน้ายังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกดิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท ผลความคืบหน้ากรณีสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ไทย และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังไม่มีข้อยุติ

ทั้งนี้ สศอ.มีข้อเสนอและแนวทางรองรับสถานการณ์ในระยะสั้น ให้มีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ กำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศสำหรับโครงการลงทุนภาครัฐ เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และดูแลสถานการณ์ค่าเงินเพื่อให้สินค้าและบริการของไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก ส่วนในระยะกลางควรเร่งผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมศักยภาพ ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาทักษะแรงงาน หามาตรการจูงใจให้ผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนลงทุนจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น