สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกปีนี้โต 4.1% ขอติดตามสถานการณ์ 1-2 เดือนก่อนปรับเป้าหมายใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เกาะติดมาตรการกีดกันการค้าเวียดนามกรณีรถยนต์นำเข้า หวั่นประเทศอื่นในอาเซียนเลียนแบบ
นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 61 อยู่ที่ 103.28 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.99% และนับเป็นค่าดัชนีที่ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 นับตั้งแต่ พ.ค. 60 ส่งผลให้ MPI 4 เดือนแรกในปีนี้ขยายตัว 4.1% จึงขอดูอีก 1-2 เดือนว่าจะปรับเป้าหมาย MPI เพิ่มขึ้นหรือไม่ จากที่ตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะโต 2.5-3% GDP ภาคอุตสาหกรรม 2-3%
“อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน เม.ย.อยู่ที่ 61.58% ต่ำสุดในรอบปี ซึ่งเป็นปกติที่เดือน เม.ย.จะมีวันหยุดมากทำให้กำลังการผลิตลดต่ำ แต่หากเทียบกับ เม.ย. 60 ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.40% ก็ถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น” นายณัฐพลกล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ MPI เดือน เม.ย.ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ที่โตเพิ่มขึ้น 44.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากฝนที่ตกชุกทำให้ผลผลิตอ้อยปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก และการหีบอ้อยยังคงมีมากต่อเนื่องถึงปลาย เม.ย.
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัว 9.31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเครื่องยนต์แก๊สโซลีน เครื่องยนต์ดีเซล แนวโน้มความต้องการรถยนต์ในประเทศไทยยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นและอาจแตะระดับ 1 ล้านคันได้ รวมถึงส่งออกยังเป็นบวกต่อเนื่อง ขณะที่เม็ดพลาสติกขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.41% จากการขยายการผลิตของบางบริษัทที่รองรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัว 6.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการขยายตัวการใช้ดีเซล เป็นต้น
“การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกของปีนี้ (ไม่รวมทองคำแท่งก็ขยายตัว 13.1% กำลังซื้อภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวทำให้ MPI 4 เดือนแรกขยายตัว” นายณัฐพลกล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังประสานกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดจากกรณีที่เวียดนามออกมาตรการควบคุมนำเข้ารถยนต์ของเวียดนามที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการออกเอกสารรับรองรถยนต์นำเข้าจากประเทศผู้ส่งออกและการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ใหม่ที่นำเข้ามาจำหน่ายในเวียดนาม ซึ่งนับเป็นการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB) ที่หากปล่อยไว้ระยะยาวอาจกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ได้
“สิ่งที่เราต้องมองคือ หากมีการทำกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก และหากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนทำบ้างจะเป็นอย่างไร อาเซียนอาจไม่สามารถตอบคำถามได้ การลงทุนก็อาจกระทบ ส่วนไทยและชาติในอาเซียนจะฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) หรือไม่คงอยู่ที่บริบทของกระทรวงพาณิชย์ เพราะที่ผ่านมาการเจรจากับเวียดนามในหลายเวทีแล้วผลไม่ได้ตามที่คาดหวังนัก” นายณัฐพลกล่าว