กลุ่มเหล็ก ส.อ.ท.เกาะติดสงครามทางการค้าใกล้ชิด หลังสหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ พร้อมโต้กลับสหรัฐฯ ผวาสินค้าเหล็กที่ส่งเข้าจีนไม่ได้และที่โดนมาตรการเซฟการ์ดจากอียูกว่า 34 ล้านตันจะทะลักเข้าไทยซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อม ส่วนผลกระทบทางตรงคาดว่าจะกระทบต่อราคาถั่วเหลืองและข้าวโพดลดต่ำลงได้
นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มเหล็ก ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์เหล็กในประเทศอย่างใกล้ชิดว่าจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางอ้อมต่อมาตรการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าตามมาตรา 232 (Section 232) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) ของสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากอาจทำให้เหล็กจำนวนกว่า 34 ล้านตันไหลเข้าสู่ตลาดไทยได้
“หลังจากที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจใช้มาตรา 232 ขึ้นภาษีเหล็กนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมโดยมีเป้าหมายสำคัญคือจีน ขณะนี้เริ่มพบเหล็กเคลือบสังกะสีจากจีนไหลเข้าสู่ประเทศไทยต่อเนื่องรวมแล้วล่าสุดประมาณ 2 แสนตัน ซึ่งคงจะต้องดูใกล้ชิดหากกระทบมากก็ต้องเสนอไปยังกระทรวงพาณิชย์ให้ออกมาตรการดูแล” นายกรกฎกล่าว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางสหภาพยุโรป อินเดีย รัสเซีย ตุรกี และญี่ปุ่นแจ้งต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ที่จะใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐฯ แล้ว โดยส่วนใหญ่มุ่งเป้าหมายไปที่สินค้าเกษตร ดังนั้นผลกระทบโดยตรงจากที่ประเมินไว้เบื้องต้นคือผลต่อการค้าสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวโพดที่ขณะนี้จีนหันไปนำเข้าจากพม่ามากขึ้น หากอียูและประเทศอื่นๆ ลดการนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากสหรัฐฯ ราคาถั่วเหลือและข้าวในสหรัฐฯ อาจลดลงซึ่งจะกระทบต่อเกษตรกรไทยแต่จะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ส่วนเกษตรรายการอื่นยังไม่เห็นถึงผลกระทบเพราะไม่ใช่รายการที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกโดยตรง
สำหรับผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นแก่อุตสาหกรรมเหล็กยังคงอยู่ เนื่องจากความเสี่ยงจากสินค้าเหล็กของจีน เกาหลีใต้ อินเดีย รัสเซีย ไต้หวัน ตุรกี เวียดนาม และญี่ปุ่นที่ไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ จากมาตรการ Section 232 และสหภาพยุโรปจากมาตรการ Safeguard ที่มีปริมาณรวมกว่า 34 ล้านตันที่จะล้นตลาดโลก ซึ่งประเทศเหล่านี้จะหันมาส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น และไทยเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะถูกระบายสินค้าเข้ามา
“เมื่อ 21 พ.ค.ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และการอุดหนุน (CVD) กับเหล็กแผ่นรีดเย็นและเหล็กแผ่นต้านทานการกัดกร่อนที่ใช้วัตถุดิบเหล็กแผ่นที่นำเข้าจากจีนมาผลิต ดังนั้นเวียดนามจะได้รับแรงกดดันอย่างมากและต้องระบายเหล็กออกมาในอาเซียนและไทยเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง ซึ่งทั้งหมด ส.อ.ท.จึงต้องติดตามใกล้ชิด และหากสงครามการค้าลุกลามไปถึงประเด็นอื่นๆ เช่น การใช้มาตรการคว่ำบาตรธุรกรรมทางการเงินอาจสร้างผลกระทบที่ยิ่งลุกลามมากยิ่งขึ้น” นายกรกฎกล่าว