xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณดี “สศอ.” ปรับจีดีพีอุตสาหกรรมปีนี้โตเพิ่มเป็น 3-4%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สศอ.ปรับเป้าจีดีพีอุตสาหกรรมปีนี้โตเพิ่มขึ้นเป็น 3-4% จากเดิมที่คาดไว้จะโต 2-3% แต่ยังคงเป้าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไว้ที่ 2.5-3% หลังปรับมาแล้ว เหตุส่งออกการผลิตเริ่มขยับ โดย MPI พ.ค.ยังบวกติดต่อเป็นเดือนที่ 13 ส่งผล 5 เดือนโต 3.8% แต่ยังคงต้องติตตามสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน



นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ได้ปรับประมาณการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปี 2561 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2-3% เพิ่มเป็นโต 3-4% เนื่องจากมีปัจจัยทั้งการส่งออกและการผลิตที่เพิ่มขึ้นทำให้แนวโน้มอุตสาหกรรมภาพรวมขยายตัว ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปีนี้ยังคงเป้าหมายเดิมไว้ที่ 2.5-3%

“เรายังคง MPI ไว้ เพราะก่อนหน้าได้ปรับเป้าหมายเพิ่มไปแล้วครั้งหนึ่งที่กำหนดไว้จะโต 1.5-2.5% ปรับมาเป็นโต 2.5-3% ซึ่งถือว่าฐานได้สูงขึ้นแล้ว” นายณัฐพลกล่าว

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ 3.2% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ 5 เดือนแรกของปีนี้ MPI ขยายตัวเป็น 3.8% (5 เดือนแรกปีก่อนขยายตัว 0.4%) และยังเป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 เนื่องจากการส่งออกเติบโตต่อเนื่อง โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวก ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำตาลทราย เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ยา Hard Disk Drive และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน พ.ค.อยู่ที่ 69.91 เติบโตสูงสุด

สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อดัชนีฯ ในเดือน มิ.ย.ที่ได้ติดตาม ได้แก่ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งเบื้องต้นจากการวิเคราะห์ภาพรวมยังไม่มีนัยสำคัญที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยมากนักในระยะสั้น 2-3 เดือนเพราะการขึ้นภาษีนำเข้ายังไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด และหากจีนและสหรัฐฯ ไม่สามารถเจรจาการส่งออกสินค้าเข้าสองประเทศอาจจะไปจากประเทศกลางๆ ที่อ้อมไปไทยก็อาจได้รับอานิสงส์เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามอัตราดอกเบี้ยตลาดโลกที่มีแนวโน้มขาขึ้น แต่เบื้องต้นในส่วนของไทยเองคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติล่าสุดคงไว้ที่ 1.50% จึงเป็นผลบวกมากกว่า ขณะเดียวกัน การที่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้แล้วจะเป็นบวกต่อการลงทุนของไทยมากขึ้น

สำหรับการคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมสำคัญไตรมาสที่ 3 ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“กรณีการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ ในอดีตจะมีการวิเคราะห์ถึงอุตสาหกรรมที่เป็นผลบวก แต่ยอมรับว่าครั้งนี้อุตสาหกรรมที่จะบวกชัดเจน อย่างเช่น เสื้อผ้า ทีวี แต่สินค้า 2 ตัวหลักตอนนี้มีการย้ายฐานการผลิตไปค่อนข้างมากทำให้ไม่เห็นผลชัดเจน ส่วนอุตสาหกรรมอาหารนั้นเป็นบวกส่วนหนึ่งอาจมาจากฟุตบอลโลกแต่ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญมากนัก” นายณัฐพลกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น