เอเจนซีส์ – แบรนด์เสื้อผ้าหรูชายยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อาเบอร์ครอมบี แอนด์ ฟิตช์ ห้างเฟอร์นิเจอร์ อิเกีย ของสวีเดน และแบรนด์เสื้อผ้าของแร็ปเปอร์ชื่อดัง ญอน ดิดดี คอมบ์ส ไม่ต่อสัญญาข้อตกลงมาตรฐานรับรองความปลอดภัยของแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอบังกลาเทศ เกิดขึ้นหลังอาคารรานาพลาซ่าถล่มทำให้แรงงานทอผ้าบังกลาเทศร่วม 1,134 คนเสียชีวิต ซึ่งสัญญาเดิมนาน 5 ปีจะหมดอายุลงในวันพฤหัสบดี(7 มิ.ย)นี้
เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานวันนี้(6 มิ.ย)ว่า ข้อตกลงรับรองมาตรฐานความปลอดภัยแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอบังกลาเทศ ที่รู้จักในนาม "ดิ แอคคอร์ด" (The Accord) เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังตึกรานาพลาซ่าถล่มเมื่อ 5 ปีก่อนหน้า ซึ่งทำให้แรงงานที่กำลังทำงานในอาคารแห่งนี้เสียชีวิต 1,134 คนเสียชีวิต กลายเป็นโศกนาฏกรรมร้ายแรงในแวดวงสิ่งทอบังกลาเทศ ซึ่งจะหมดอายุลงในวันพรุ่งนี้(7)
และนอกเหนือจากข้อตกลงนี้ พบว่าข้อตกลงอื่นที่คล้ายกันคือ ข้อตกลง “พันธมิตรเพื่อความปลอดภัยแรงงาน” (the Alliance for Worker Safety) มีกำหนดที่จะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้เช่นกัน สื่ออังกฤษชี้
ซึ่งพบว่าภายใต้ข้อตกลงความปลอดภัยแรงงานทั้งสอง เจ้าของโรงงานสิ่งทอถูกกำหนดให้ต้องปรับปรุงความปลอดภัยด้านโครงสร้างและเพลิงไหม้ของสถานที่ตั้งการผลิตเพื่อที่จะสามารถรับงานออเดอร์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติโลกตะวันตกต่อไปได้
มาจนถึงเวลานี้พบว่าบริษัท 176 แห่งจากทั้งหมด 220 แห่งในสัญญารับรองมาตรฐานปลอดภัยแรงงานสิ่งทอบังกลาเทศร่วมลงนามต่ออายุออกไป รวมไปถึง H&M ซาร่า และไพรมาร์ค(Primark) แต่ทว่าการไม่ถึงเป้าหมายตามจำนวนทั้งหมดในครั้งนี้ หมายความว่า โรงงานสิ่งทอบังกลาเทศร่วม 250 แห่งที่ส่งสินค้าให้กับแบรนด์ดังชาติตะวันตกจะไม่ถูกตรวจสอบภายใต้ข้อตกลง อ้างอิงจากร็อบ เวย์ส( Rob Wayss)ผู้อำนวยการบริหารข้อตกลงดิ แอคคอร์ด
ซึ่งรวมไปถึงโรงงานสิ่งทอที่ส่งสินค้าป้อนให้กับแบรนด์ดัง อาเบอร์ครอมบี แอนด์ ฟิตช์ (Abercrombie and Fitch) ของสหรัฐฯ เอดินบะระ วูล มิลส์ (Edinburgh Wool Mills) ของอังกฤษ แบรนด์เสื้อผ้า ณอน จอห์น (Sean John) ของศิลปินแร็ปเปอร์ผิวสีผู้มั่งคั่งชาวสหรัฐฯ ญอน ดิดดี คอมบ์ส (Sean Diddy Combs)
เดอะการ์เดียนรายงานว่า กลุ่มรณรงค์ได้ออกมาเรียกร้องให้ห้างเฟอร์นิเจอร์ อิเกีย ของสวีเดน ลงนามในข้อตกลงควบคุมความปลอดภัยออกไป อย่างไรก็ตาม ทางอิเกียได้กล่าวผ่านแถลงการณ์มายังสื่ออังกฤษ ชี้แจงว่า ทางอิเกียมีความเห็นร่วมในจุดประสงค์ของข้อตกลงดิ แอคคอร์ด แต่ทว่าทางบริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ลงนาม และเลือกที่จะทำงานภายใต้กรอบการทำงานของบริษัทที่มีอยู่เดิมรู้จักในนาม IWAY ซึ่งถูกมองว่าเป็นแนวปฎิบัติที่เข้มงวด แต่ทว่าไม่ทำให้ซัพพลายเออร์หรือผลการตรวจสอบออกสู่สาธารณะ
ทั้งนี้ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนการเสียชีวิตของแรงงานสิ่งทอบังกลาเทศลดลงอย่างมหาศาล และพบว่าปัญหาด้านความปลอดภัยจำนวนไม่ต่ำกว่า 100,000 ข้อที่ถูกบ่งชี้ได้รับการแก้ไขภายใต้การกำกับของข้อตกลงรับรองมาตรฐานความปลอดภัยแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอบังกลาเทศ และข้อตกลงพันธมิตรเพื่อความปลอดภัยแรงงาน
แต่ทว่าการที่ข้อตกลงพันธมิตรที่จะสิ้นสุดลงในปลายปี 2018 สร้างความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้นต่อความพยายามในการที่จะปรับปรุงคุณภาพของโรงงานสิ่งทอบังกลาเทศ
ซึ่งพบว่าผู้จัดการข้อตกลงพันธมิตรเพื่อความปลอดภัยแรงงานอยู่ในระหว่างการเจรจากับบรรดากลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่เพื่อหาทางให้ข้อตกลงนี้สามารถยืดอายุการทำงานต่อไป สื่ออังกฤษชี้ว่า ห้างวอลมาร์ต แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง GAP รวมอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ร่วมลงนามข้อตกลงเดิม
ในขณะที่รัฐบาลบังกลาเทศและกลุ่มองค์กรทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมสิ่งทอบังกลาเทศออกมาชี้ตรงกันว่า ***ต้องการให้ข้อตกลงกำกับความปลอดภัยทั้งสองถูกยกเลิกให้เร็วที่สุด*** โดยชี้ว่าบังกลาเทศพร้อมแล้วที่จะสามารถกำกับดูแลภายในเองได้
ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีการค้าบังกลาเทศ โทเฟล อาห์เหม็ด(Tofail Ahmed)ออกมาชี้ว่า “ผลของข้อตกลงปลอดภัยและข้อตกลงพันธมิตรจะไม่มีอีกต่อไปหลังครบรอบสัญญา บังกลาเทศไม่มีความจำเป็นต้องมี 2 องค์กรนี้” และกล่าวต่อว่า “สัญญาทั้งสองจะไม่ถูกยืดอายุเพื่อให้ยังคงสภาพใช้ได้หลังสิ้นสุดเนื่องมาจากเหตุผลนี้ กลุ่มเคลื่อนไหวเช่นองค์กรเหล่านี้ไม่สมควรที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้อีกต่อไป”
แต่ทว่าความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาต่างๆภายใต้การกำกับของรัฐบาลบังกลาเทศนั้นคืบหน้าไปอย่างช้ามากเมื่อเปรียบเทียบกับการปรับปรุงภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงทั้งสอง
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ล่าสุด พบว่ามีน้อยกว่า 15% ที่ถูกแก้ไขถึงแม้ว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นปัญหาอันตรายร้ายแรงอย่างเห็นได้ชัดก็ตาม อ้างอิงจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO