xs
xsm
sm
md
lg

พิษสงครามการค้า สศอ.จ่อหั่นเป้า MPI ปี 62 รุดศึกษารับมือสหรัฐฯ ตัด GSP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย.ลดลง 4.73% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกหดตัว 2.59% เกาะติดปัจจัยสงครามการค้า บาทแข็ง ก่อนหั่นเป้า MPI ปี 2562 เดือน พ.ย.นี้ พร้อมระดมสถาบันต่างๆ ในสังกัดกระทรวงอุตฯ วิเคราะห์ผลกระทบไทยถูกตัดสิทธิ GSP

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2562 อยู่ 97.5 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.73% และเป็นค่าดัชนีฯ ที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือนส่งผลให้ MPI 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 103.12 ลดลง 2.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอันเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สศอ.จะติดตามปัจจัยต่างๆ ทั้งสงครามการค้า ค่าเงินบาท รวมถึงการถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ล่าสุดก่อนที่จะมีการทบทวน MPI และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปี 2562 อีกครั้งในเดือน พ.ย.นี้

“MPI ไตรมาส 3 ของปีนี้ (ก.ค.-ก.ย. 2562 )อยู่ที่ 99.35 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.15% แต่สัญญาณในไตรมาส 4 เราหวังว่าน่าจะฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอาทิ ชิมช้อปใช้เฟส 2 ไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้ แต่ก็ยอมรับว่าการส่งออกค่อนข้างชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ดังนั้น MPI และจีพีดีภาคอุตสาหกรรมที่คาดการณ์ไว้ปีนี้จะอยู่ที่ 0-1% นั้นคงจะมีการทบทวนในเดือน พ.ย. ระหว่างนี้คงต้องติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยยอมรับว่า MPI มีแนวโน้มจะปรับลด” นายทองชัยกล่าว

สำหรับกรณีที่สหรัฐฯ ระงับการให้สิทธิ GSP กับสินค้าไทย 573 รายการนั้น ล่าสุด สศอ.ได้ขอความร่วมมือให้สถาบันต่างๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงฯ เช่น สถาบันยานยนต์ สถาบันอาหาร สถาบันสิ่งทอ ฯลฯ รวบรวมผลกระทบเพื่อที่จะหามาตรการดูแลในระยะต่อไป โดยคาดว่าจะสรุปได้ในเดือน พ.ย. อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้สอบถามไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็อยู่ระหว่างรวบรวมผลกระทบเช่นกัน

“สศอ.พบว่าภาคอุตสาหกรรมใช้สิทธิ GSP จริงเพียง 300 กว่ารายการเท่านั้น เบื้องต้นมองว่าผลกระทบไม่มากนัก ขณะเดียวกัน GSP ที่เราถูกตัดนั้น ผลกระทบแต่ละตัวจะต่างกันมาตรการดูแลอาจต่างกันไป แต่ทั้งหมดมองว่าหากไทยสามารถแข่งขันตลาดโลกได้โดยไม่มี GSP จะมีความยั่งยืนกว่า” นายทองชัยกล่าว

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายน 62 อยู่ที่ 63.87% ลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือนเช่นกัน นับตั้งแต่ พ.ค. 62 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI และอัตราการใช้กำลังการผลิต เดือน ก.ย.ได้แก่ อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันที่ลดลง 11.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากโรงกลั่นบางแห่งมีการหยุดซ่อม ยางอื่นๆที่ไม่ใช่ยางล้อลดลง 21.3% จากการบริโภคที่ชะลอตัว เช่นเดียวกันอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลดลง 5.2% เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น