xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจซึมฉุดยอดสั่งพิมพ์ปฏิทิน-ไดอารีรับปี 63 ชะลอตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เผยยอดคำสั่งทำปฏิทิน ไดอารี ส.ค.ส. ปีนี้หดตัว 5% เหตุห้างร้านหั่นงบหลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจเติบโตชะลอตัวจากทิศทางเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง ศก.ไทยยังคงต้องจับตาเทรดวอร์และค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแนวโน้มว่ายอดคำสั่งจัดพิมพ์ปฏิทิน สมุดจดบันทึก (ไดอารี) และบัตรส่งอวยพรความสุข (ส.ค.ส.) เพื่อส่งมอบเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2563 มีทิศทางที่ชะลอตัวจากปี 2562 ประมาณ 5% เนื่องจากบริษัท ห้างร้านส่วนมากได้ตัดงบประมาณลงอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

“คำสั่งซื้อที่ทยอยมาตั้งแต่ ก.ย.ชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ และบางส่วนปรับเปลี่ยนตามเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ส.ค.ส.นั้นที่เหลือพิมพ์ในอัตราที่ต่ำต่อเนื่องเพราะคนส่วนใหญ่หันไปอวยพรผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ แทน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ปีนี้คาดว่าจะยังเติบโตจากปีก่อนเล็กน้อยเนื่องจากตลาดบรรจุภัณฑ์ยังมีตลาดใหม่ๆ รองรับแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลงก็ตาม ซึ่งมูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ไทยจะอยู่ที่ราว 3 แสนล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมการพิมพ์ 1.2 แสนล้านบาท การบรรจุภัณฑ์ 1.8 แสนล้านบาท” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทย ส.อ.ท.มองไปในทิศทางเดียวกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปีเหลือโต 2.6% จากเดิม 2.8% ขณะที่ส่งออกภาพรวมของไทยปี 2562 ส.อ.ท.เคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ในช่วง 0 ถึง -2% หากมองทิศทางล่าสุดจากการส่งออก 9 เดือนแรกที่ลดลง 2.1% แนวโน้มทั้งปีคงจะติดลบ ซึ่งปัจจัยหลักยังคงมาจากผลกระทบสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นสำคัญ

ส่วนปัจจัยที่มีผลรองมาจากเทรดวอร์คือค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาต่อเนื่องที่ทำให้ศักยภาพการส่งออกไทยลดลง แม้ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.25% ต่อปี ที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยผ่อนคลายไปในทิศทางที่อ่อนค่าลงมาเล็กน้อย แต่ภาพรวมค่าเงินบาทไทยก็ยังคงแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้าของไทยซึ่งทำให้ ส.อ.ท.ยังคงต้องติดตามปัจจัยค่าเงินใกล้ชิดต่อไป

“เทรดวอร์มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบางกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภทยานยนต์และชิ้นส่วน ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูปบางชนิด ฯลฯ ซึ่งทำให้กิจการที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบเกิดการปรับตัวในการลดต้นทุน คาดว่าจะต่อเนื่องในปี 2563 เช่น ลดทำงานล่วงเวลา ลดกะทำงาน ปิดชั่วคราวจนกว่าสต๊อกจะหมด หากที่สุดยังรับภาระไม่ได้ก็ปิดกิจการ แต่ขณะเดียวกันยังมีโรงงานบางส่วนที่ได้รับผลบวกก็ยังมีการขยายงานจึงต้องติดตามในระยะยาวมากกว่า” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น