"สุริยะ" หารือ 7 สมาคมยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตในไทยรับมือเหล็กนอกทะลัก สั่ง "สมอ." คุมเข้มนำเข้า พร้อมเร่งยกระดับสู่อุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ด้าน "สมอ." จ่อคลอดมาตรฐานคุมเหล็กด้อยคุณภาพนำเข้าใหม่อีก 7 มาตรฐานเร็วๆ นี้ จากปัจจุบันบังคับใช้แล้ว 20 มาตรฐาน
นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่ 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย โดยการรวมตัวกันของสมาคมผู้ผลิตเหล็กในประเทศที่มีสมาชิก 472 บริษัท เข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรายงานความคืบหน้าแนวทางการแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กไทยที่ร่วมดำเนินการกับกระทรวงอุตสาหกรรมและความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งเน้นการใช้สินค้าเหล็กในประเทศและควบคุมการนำเข้าให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
"สมาคมเหล็กฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าไทยเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ในปี 2561 ไทยมีปริมาณการใช้เหล็ก 19.3 ล้านตัน เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศเพียง 7.3 ล้านตัน และมีกำลังการผลิตเพียง 33% ภาพรวมของปัญหาหลักเกิดจากสินค้าในประเทศถูกสินค้านำเข้าแย่งส่วนแบ่งตลาด ซึ่งส่งผลต่ออัตราการใช้กำลังการผลิตด้วย" โฆษกกระทรวงอุตฯ กล่าว
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สมอ.ได้ควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นพิเศษ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีการประกาศใช้มาตรฐานบังคับกับผลิตภัณฑ์เหล็กแล้วจำนวน 20 มาตรฐาน และได้เร่งรัดแก้ไขมาตรฐานและกำหนดใหม่ เพื่อบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์เหล็กที่ด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ โดยมีมาตรฐานที่อยู่ในขั้นตอนการประกาศบังคับใช้อีกจำนวน 7 มาตรฐาน ได้แก่
1. มอก. 50-2561 เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน แผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นตัด และแผ่นลูกฟูก 2. มอก. 528-25xx เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานทั่วไปและงานดึงขึ้นรูป 3. มอก. 1228-25xx เหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปเย็นสำหรับงานโครงสร้างทั่วไป 4. มอก. 1390-2560 เข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อน 5. มอก. 1999-2560 เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างรถยนต์ 6. มอก. 2060-2560 เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานถังก๊าซ และ 7. มอก. 2140-2560 เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็น สำหรับงานรถยนต์
นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานที่อยู่ระหว่างการแก้ไขและกำหนดใหม่อีก 16 มาตรฐาน ซึ่ง สมอ.จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศสามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเพื่อป้องกันการนำเข้าเหล็กที่ด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ
“สมอ.ยังเฝ้าจับตาการนำเข้าสินค้าดังกล่าวอย่างใกล้ชิดผ่านระบบ National Single Window (NSW) หากพบมีการนำเข้าในปริมาณมากผิดปกติจะเข้าทำการตรวจสอบทันที และยังควบคุมการนำเข้าเหล็กลวดคาร์บอนจากประเทศเวียดนาม โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวดก่อนทุกครั้งที่นำเข้า รวมทั้งเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจสอบ เนื่องจากปัจจุบันมีการนำเข้าเหล็กดังกล่าวจากประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก” นายวันชัยกล่าว