ผู้จัดการรายวัน360 – “ข้าวหงษ์ทอง” แตกไลน์ธุรกิจ รับดิสทริบิวเตอร์ นำร่องภาคตะวันออก หวังขยายธุรกิจสร้างรายได้ใหม่ พร้อมโหมหนักข้าวเกรดรอง รับเศรษฐกิจไม่ดีกำลังซื้อซบ ตลาดรวมข้าวถุง 20,000 ล้านบาท ทรงๆ
นายกัมปนาท มานะธัญญา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายข้าวแบรนด์ “ข้าวหงษ์ทอง” เปิดเผยว่า บริษัทฯจะขยายธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องด้วยการรับเป็นผู้จัดจำหน่ายหรือดิสทริบิวเตอร์ให้กับสินค้าอื่นๆนอกเครือด้วยเครือข่ายที่บริษัทฯมีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นร้านค้ายี่ปั๊วซาปั๊ว ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกอื่นๆ เพื่อเป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิมและเพื่อสร้างรายได้การเติบโตให้กับองค์กร โดยล่าสุดนี้ได้เริ่มทดลองให้บริการที่พื้นที่ภาคตะวันออกก่อน ในการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับพันธมิตรจำนวนหนึ่ง
“ธุรกิจข้าวถุงโดยรวมที่มีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เติบโตมากนัก ทรงๆทรุดๆมาตลอด ปี2562นี้ก็คาดว่าตลาดรวมจะโตเพียง 5% เท่านั้น ทำให้เราต้องมองหาธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องเข้ามาต่อเติม”
นอกจากนั้น บริษัทฯยังมีแผนที่จะรุกตลาดในกลุ่มข้าวถุงระดับเกรดรองมากขึ้น หลังจากที่เริ่มทำมาเพียง 2-3 ปีแต่ยังไม่ได้ทำตลาดมากนัก แต่ที่ผ่านมายอดขายในกลุ่มนี้ของบริษัทฯเติบโตถึง 200% เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดที่หันมาซื้อข้าวราคาต่ำลงมากขึ้น ขณะที่กลุ่มข้าวระดับล่างหรือข้าวขาวก็พอมีทำตลาดอยู่บ้างแต่ยังไม่ถือว่าเป็นสาระมากนัก
“จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัญหาเรื่องค่าครองชีพสูง ในขณะที่รายได้ลดลง หรือไม่เพิ่มขึ้น ทำให้กระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อข้าวที่ผู้บริโภคเลือกซื้อข้าวเกรดรอง ราคาไม่เกิน 200 บาทต่อถุงเพิ่มขึ้น จึงทำให้ข้าวหอมมะลิ ที่ราคาพุ่งถึง 259 บาทขนาดถุง 5 กิโลกรัม มีการเติบโตเล็กน้อย เราจึงมีสินค้าใหม่วางจำหน่ายในปีนี้คือ ข้าวหอมคัดพิเศษ มาทำตลาด”
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นเกือบ 30-40% ที่ราคาข้าวหอมมะลิตันละ 18,000 -20,000 บาท ทำให้ต้นทุนข้าวเพิ่มขึ้นตามสภาวะตลาด ส่งผลต่อราคาขายปลีกข้าวหอมมะลิบรรจุถุง ราคาเฉลี่ย 230-250 บาทต่อขนาด 5 กก. ราคาข้าวหอมเกรดรองอยู่ที่ 170-200 บาท ผู้บริโภคจึงหันมาซื้อข้าวหอมเกรดรองมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขสัดส่วนการขายของข้าวสารบรรจุถุงเดือน ม.ค.-มิ.ย. ปี 2562
สำหรับตลาดรวมข้าวถุง แบ่งเป็นกลุ่มข้าวหอมมะลิ 55% แต่โตน่อยสดที่ 8%, กลุ่มข้าวหอมเกรดรอง 26% แต่โตมากสุดคือ 33%, กลุ่มข้าวขาว 13% โตรองลงมาคือ 30% และ กลุ่มข้าวสุขภาพ 6% เติบโต 29%
ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของบริษัทฯแบ่งตามกลุ่มข้าวคือ ข้าวหอมมะลิ สัดส่วน 70% (เดิมมากถึง 90%), ข้าวเกรดรอง สัดส่วน 15%, ข้าวขาว สัดส่วน 5% และ ข้าวคุณภาพ สัดส่วน 10% แต่เติบโต 100% สัดส่วนรายได้จาก 5%เพิ่มเป็น 10% แล้ว
ล่าสุดได้ออกสินค้าใหม่ในกลุ่มข้าวนาหยอด ข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู รุ่น Limited Edition วางจำหน่ายทั้งห้างสรรพสินค้าและออนไลน์ โดยเปิดตัวแคมเปญเมื่อวันที่ 11:11 ด้วยยอดขายเพียงวันเดียว 12,000 ถุง และเป้าหมายของแคมเปญเฉพาะช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ด้วยยอดขาย 600,000 ถุง และออกหนังโฆษณาทางออนไลน์ “เพียงคำเดียว” เพื่อสร้างการรับรู้และโปรโมทแบรนด์ด้วย
โครงการหงษ์ทองนาหยอด” เริ่มต้นปี 58/59 มีผู้ร่วมโครงการเพียง 500 ไร่ และปีนี้ฤดูกาลปลูก 61/62 มีผู้ร่วมโครงการ 60,000 ไร่ เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดทุกปี เพราะโมเดลนี้ ลดต้นทุนการปลูก เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ทำให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าผู้ร่วมโครงการเป็น 100,000 ไร่ ในปี 2563 และขยายพื้นที่ออกไปในอำเภอต่างๆ นอกเหนือจากเดิมที่โพนข่า จ.ศรีสะเกษ และอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
นายกัมปนาท กล่าวด้วยว่า ปี2562นี้ตั้งเป้าหมายรายได้รวมในประเทศไว้ที่ 2,200 ล้านบาท โต 5% จากปีที่แล้ว โดยลดเป้าหมายจากเดิมลงมาที่จะทำได้ 2,300 ล้านบาท ส่วนทั้งบริษัทฯรวมส่งออกด้วยคาดว่าจะทำได้ประมาณ 5,500 ล้านบาท ส่วนปี 2563 ข้าวหงษ์ทองวางเป้าหมายยอดขายในไทยประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยเติบโตจากช่องทางการจัดจำหน่ายเดิมหรือ Offline 10% และช่องทางออนไลน์เติบโต 300% ซึ่งเราจัดจำหน่ายทุก Market Place ขณะนี้เป็นที่ 1 ในการขายข้าวถุงทางออนไลน์ทั้งจาก Shoppee และ Lazada
จากยอดขายเดือน มกราคม - กันยายน ปี 62 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ยอดขายแง่ปริมาณเติบโต 4% และยอดขายมูลค่าโต 5% สัดส่วนการขายข้าวหอมมะลิมากที่สุด แต่ยอดขายลดลง แต่ที่ทำได้ดีมากคือข้าวหอมเกรดรองเติบโต 73% และข้าวสุขภาพเติบโต 160% ทั้งจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ และสินค้าใหม่ข้าวกล้องหอม100% ขนาด 5 กก.