xs
xsm
sm
md
lg

คนจีนคลั่งแบรนด์ไทยสุดขีด อยากแจ้งเกิดต้องยึดโซเชียล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - คนจีนคลั่งสินค้าแบรนด์ไทยหนักมาก คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ก่อเกิดช่องโหว่ให้มีการนำเข้าแบบผิดระเบียบ ทางการจีนต้องเพิ่ม 2 มาตรการนำเข้าสินค้าแบรนด์ไทยให้ถูกต้องมากขึ้น หมดเวลากินบุญเก่าผ่านวิธีหิ้วเข้าไปขาย ถึงเวลาแบรนด์ไทยต้องทำตลาดจีนอย่างจริงจัง งานนี้ "AVG " พร้อมแนะวิธีแจ้งเกิดแบรนด์ไทยในจีนผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ต้องจับสื่อโซเชียลให้ตรงจุด

ปัจจุบันความชื่นชอบของคนจีนเกี่ยวกับประเทศไทยยังคงมีต่อเนื่องและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่า ณ เวลานี้จะมีเรื่องค่าเงินบาทแข็ง หรือนโยบายความเข้มงวดในการนำเงินออกนอกประเทศของคนจีนก็ตาม ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนยังคงเลือกไทยเป็นเดสติเนชันของการท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ จากสถิติแต่ละปีพบว่ามีคนจีนเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศได้อย่างมหาศาลมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ "จีน" คือโอกาสสำคัญสำหรับนักลงทุนไทย นั่นเพราะจีนยังคงเป็นตลาดหลักอันดับ 1 ทั้งในภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้าไทยไปขายยังประเทศจีน


โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์ไทยคนจีนให้การตอบรับสูงมาก ส่วนสำคัญมาจากประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ คนจีนจึงมองว่าสินค้าไทยต้องมีคุณภาพสูงตามนิสัยของคนนับถือศาสนาพุทธที่จะไม่โกหกหลอกลวง ทำให้สินค้าไทยหลายๆ แบรนด์เป็นที่รู้จักของคนจีนทั้งในกลุ่มนักเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทย และคนจีนในประเทศจีน ซึ่งความชื่นชอบในสินค้าไทยของคนจีนมาจากการซื้อฝาก และซื้อเพื่อนำไปขายต่อ หรือที่เรียก "หิ้ว" ไปขาย รวมถึงการส่งออกอย่างถูกต้องตามกฎหมายของแบรนด์ไทยที่เข้าไปทำตลาดในจีน โดยคาดว่าสินค้าแบรนด์ไทยที่มีจำหน่ายในจีนในทุกช่องทางน่าจะมีมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ช่องทางออนไลน์ 50% และหิ้วเข้าไปจำหน่ายอีก 50%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรูปแบบการหิ้วสินค้าแบรนด์ไทยเข้าไปขายในจีนนั้นคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าช่องทางออนไลน์ถึง 3 เท่าตัว แต่หลังจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาทางการจีนได้ออก 2 มาตรการตรวจเข้มในกลุ่มคนจีนที่เดินทางมาไทยบ่อยผิดปกติ หรือเกิน 3 ครั้งต่อปี จะต้องสำแดงสัมภาระ เพื่อป้องกันการหิ้วสินค้าแบรนด์ไทยเข้ามาจำหน่ายแบบเลี่ยงภาษี ส่วนสำคัญเพื่อป้องกันการถูกหลอก และนำไปสู่การซื้อขายที่เข้าสู่ระบบถูกกฎหมายของจีน


ทั้งนี้ พบว่าสาเหตุที่คนจีนนิยมซื้อสินค้าไทยในรูปแบบหิ้วเข้าไปขายในจีนนั้น เกิดจาก 1. ราคาถูกกว่าการซื้อผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ หรือออนไลน์ 2. ระยะเวลาในการได้รับสินค้าเร็วกว่าช่องทางออนไลน์ 3. ความหลากหลายของสินค้าที่มีมากกว่าช่องทางออนไลน์

"สถานการณ์ตลาดจีนปัจจุบันยอมรับว่าการทำตลาดในจีนตอนนี้เริ่มยากขึ้น เนื่องจากพ่อค้ารับหิ้วของจากไทยลดน้อยลง จากการออกกฎหมายใหม่ของประเทศจีนที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจรับหิ้วสินค้าจากต่างประเทศจะต้องลงทะเบียนและเสียภาษี กอปรกับค่าเงินบาทที่แข็งตัว และปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่ยังยืดเยื้ออยู่บ้าง แต่กระนั้นก็ไม่ถือเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการที่อยากจะเข้าไปสร้างแบรนด์ในจีน เพราะคนจีนยังรักและเชื่อถือในคุณภาพของสินค้าไทยอยู่เป็นจำนวนมาก" ซีอีโอ AVG Thailand กล่าว


**อยากแจ้งเกิดในจีนต้องยึดโซเชียล**
แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่สินค้าแบรนด์ดังจากไทยเองก็สามารถเข้าไปสร้างความนิยมและตีตลาดจีนได้ไม่น้อย มีทั้งกลุ่มขนมขบเคี้ยว สินค้าเพื่อสุขภาพ สกินแคร์-เครื่องสำอาง เป็นต้น ขณะที่กลยุทธ์ WOM (Word of Mouth) ยังเป็นกลยุทธ์ที่คุ้มค่าที่สุด เพราะนอกจากนักท่องเที่ยวจีนจะเป็นกระบอกเสียงที่ดีแล้ว กลุ่มคนจีนในไทยก็ถือว่าเป็นกลุ่มทาร์เกตใหม่ที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับแบรนด์ที่ตั้งใจจะไปเจาะตลาดในจีน

นางชฎากร ธนสุวรรณเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวีจี ไทยแลนด์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมาร์เกตติ้งในจีนระดับแนวหน้าของเอเชียในเครือ บริษัท วายดีเอ็ม ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า การทำการตลาดออนไลน์ที่จีนนั้นต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ต้องดูตัวเราเองว่าเราอยู่สเตทไหน เช่น เป็นแบรนด์ที่มีวางจำหน่ายทั่วเมืองไทย หรือมีเปิดแค่ 1-2 ชอปเท่านั้น เพราะจะได้วางงบการทำแบรนด์ที่เหมาะสมต่อไป 2. ดูวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น ต้องการหาดิสทริบิวเตอร์ หรือหาลูกค้าที่ซื้อ และควรดูคู่แข่ง ดูมาร์เกตลีดเดอร์ ว่าเขาทำอะไรไปบ้าง ทำการตลาดไปถึงไหนแล้ว

และ 3. ต้องรู้กลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากในประเทศจีนมีจำนวนประชากร 1,400 ล้านคน ถ้าเราเลือกกลุ่มนิชเกินไปค่าใช้จ่ายต่อหัวอาจจะสูงเพราะต้องทำมาร์เกตติ้งเจาะไปที่กลุ่มนั้นๆ แต่ถ้าแมสไปอาจจะไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะเจาะตลาดในกลุ่มที่ต้องการได้ ฉะนั้นจึงต้องพิจารณาให้ดีเพราะส่งผลต่องบประมาณที่ตั้งไว้


ที่สำคัญ การทำตลาดสร้างแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักในจีนนั้นควรเลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารสร้างการรับรู้และการทำตลาด เพราะตลาดดิจิทัลในจีนปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก หรือกว่า 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 25% ของค้าปลีกทั้งหมด อันดับสอง คือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับสาม คือ ยุโรป มีมูลค่าประมาณ 400,000-500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน ต้องเข้าใจและเลือกใช้สื่อโซเชียลในจีนให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและตรงวัตถุประสงค์ เพราะจีนเป็นประเทศที่เข้าถึงสื่อโซเชียลและมีให้เลือกใช้มากที่สุดของโลก อีกทั้งในแต่ละเซกเมนต์ยังมีแอปพลิเคชันพัฒนาขึ้นมาให้ใช้มากมาย เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายของประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ที่มีความหลากหลายในหลายๆ ด้าน เช่น ภาษา ตัวหนังสือ วัฒนธรรม ศาสนา อาหาร เป็นต้น


"จีนเป็นตลาดใหญ่ แต่ไม่ใช่ตลาดเดียวกัน เพราะมีความหลากหลายของประชากรจากหลายภูมิภาค ภาษา ศาสนา และอื่นๆ ดังนั้น การทำตลาดจึงต้องแตกต่างกัน การเลือกใช้แอปพลิเคชันหรือสื่อออนไลน์ก็ต้องแตกต่างกัน แต่ด้วยความที่คนจีนนิยมซื้อสินค้าทางช่องทางออนไลน์ ความเชื่อใจในโฆษณาและอินฟลูเอนเซอร์มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง ว่าเป็นของแท้ ไม่หลอกลวง การทำตลาดผ่าน 2 กลุ่มนี้จึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่แบรนด์ไทยควรใช้"

ทั้งนี้ ทาง AVG Thailand ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน เอวีจี ไทยแลนด์ ได้เพิ่มช่องทางทำการตลาดในจีน ผ่านกลุ่มคนจีนที่อยู่ในเมืองไทย เนื่องจากพบว่ามีคนจีนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยมากถึง 3-4 แสนคน มีทั้งมา ลงทุนธุรกิจในเมืองไทย ทำงาน เรียนหนังสือ และมาอยู่หลังเกษียณ ซึ่งกลุ่มคนจีนดังกล่าวนี้น่าสนใจสำหรับลูกค้าที่มีธุรกิจประเภท ร้านอาหาร โรงพยาบาล เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มลูกค้าทาร์เกตที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าแล้ว ยังเป็นกระบอกเสียงช่วยโปรโมตสินค้าไปถึงคนจีนที่ประเทศจีนได้ดีอีกด้วย เนื่องจาก การทำการตลาดในจีนค่อนข้างใช้งบเยอะ แต่กลุ่มนี้สามารถเป็นทั้งลูกค้าและกระบอกเสียงที่ถือว่าคุ้มค่า และยังจะช่วยสร้าง WOM ที่ดีให้แก่สินค้าได้อีกด้วย


อย่างไรก็ตาม พบว่า 5 อันดับสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในประเทศจีนในช่องทางออนไลน์ ได้แก่ 1. กลุ่มขนมขบเคี้ยว มีมูลค่า 906 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลไม้แปรรูป เพราะเมืองไทยขึ้นชื่อเรื่องผลไม้อร่อย มีคุณภาพ เช่น มะม่วงอบแห้ง, ทุเรียนทอดกรอบ และตามมาด้วยประเภทขนมอบกรอบ 2. ผลิตภัณฑ์จากยางพารา 2,880 ล้านบาท 3. สกินแคร์ 595 ล้านบาท 4. เครื่องสำอาง 468 ล้านบาท และ 5. ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ 34 ล้านบาท เช่น ยาหม่อง กอเอี๊ยะ เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังพบว่าเทรนด์สินค้าไทยที่กำลังได้รับความนิยมที่เห็นได้ชัด คือ 1. เน้นเรื่องธรรมชาติ (Natural) กลุ่มเพื่อสุขภาพจะมีเยอะขึ้น เช่น นมถั่วเหลืองออร์แกนิก ผลไม้แปรรูปมีความหลากหลายมากขึ้นและไม่มีน้ำตาล เช่น แอปเปิลอบแห้ง 2. ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ (Healthy) เพิ่มสรรพคุณให้มากขึ้น เช่น ที่นอนยางพาราสำหรับเด็ก ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ 3. สินค้าไทยแบรนด์ใหญ่ๆ ของไทยสามารถเข้าไปเพิ่มช่องทางการจำหน่ายที่แพร่หลายมากขึ้น เช่น เมื่อก่อนมักจะวางขายในออนไลน์อย่างเดียว หรือเฉพาะช่องทางที่ขายแต่สินค้าไทย มาปีนี้เริ่มดูอินเตอร์มากขึ้น ขยับไปวางขายในร้านสะดวกซื้อชื่อดังที่มีสาขามากมายทั่วโลก อยู่ในชั้นวางสินค้าเดียวกับสินค้าแบรนด์ดังระดับโลก ซึ่งช่วยทำให้เข้าถึงคนจีนได้มากขึ้น เช่น คอสเมติกส์, เครื่องดื่มเอนเนอร์ยีดริงก์, น้ำมะพร้าว เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น