กรมการค้าต่างประเทศเผยญี่ปุ่นแก้ไขระเบียบการติดฉลากอาหารดัดแปลงพันธุกรรมใหม่ โดยให้ใช้คำว่า “free from GMO” สำหรับอาหารที่ผ่านการทดสอบว่าไม่มีวัตถุดิบที่เป็น GMO รวมถึงอาหารที่อาจปนเปื้อนจากขั้นตอนการผลิต หรือมีวัตถุดิบที่เป็น GMO ต่ำกว่า 5% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย. 66 แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทยเตรียมรับมือ
นายกีรติ รัชโน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Affairs Agency : CAA) ของประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศแก้ไขระเบียบการติดฉลากอาหารดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) โดยระเบียบกำหนดให้ใช้ข้อความว่า “free from GMO” กำกับบนฉลากสำหรับอาหารที่ได้ผ่านการทดสอบว่าไม่มีวัตถุดิบที่เป็น GMO รวมถึงอาหารที่อาจมีการปนเปื้อนจากขั้นตอนการผลิตหรือสายการผลิตที่ใช้ผลิตอาหาร GMO และไม่ใช่ GMO หรือในกรณีที่มีส่วนประกอบของวัตถุดิบที่เป็น GMO ต่ำกว่าร้อยละ 5 ด้วย หลังจากที่ผ่านมาระเบียบการติดฉลากของญี่ปุ่นฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดให้ระบุบนฉลาก หากผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนประกอบของวัตถุดิบที่เป็น GMO ในปริมาณที่ต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยระเบียบฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ระเบียบฉบับใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคของญี่ปุ่นให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับ GMO อย่างชัดเจนเพื่อใช้ในการตัดสินใจในการเลือกซื้ออาหาร รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคจากความเสี่ยงต่อสุขภาพและอนามัยทางด้านอาหาร และช่วยส่งเสริมสุขภาพชีวิตประจำวันของการบริโภคและโภชนาการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะต้องศึกษาและเตรียมความพร้อมรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก
สำหรับ GMO (Genetically Modified Organism) คือสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม ได้แก่ พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ โดยการตัดต่อใส่เข้าไปในยีน (Gene) ของสิ่งมีชีวิตอีกชีวิตหนึ่ง และนำยีน (Gene) ของสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถนำมาผสมพันธุ์กันได้ตามธรรมชาติมาตัดต่อเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติจำเพาะตรงตามความต้องการ รวมทั้งเสริมจุดเด่นและลดต้นทุนการผลิตให้กับผลิตภัณฑ์ ในทางกลับกัน GMO อาจส่งผลให้เซลล์ในร่างกายมีพันธุกรรมที่ผิดปกติ เช่น การแพ้ยา อาหาร การดื้อยาปฏิชีวนะ การก่อสารภูมิแพ้ หรือทำให้เด็กที่เกิดมามีความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ อาจส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างควบคุมไม่ได้ และอาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิด เป็นต้น
ปัจจุบันไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรไปญี่ปุ่น ปี 2559-2561 มูลค่า 62,186 , 59,915 และ 60,339 ล้านบาท ตามลำดับ และในช่วง 8 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค) มีการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรไปญี่ปุ่น มูลค่า 38,824 ล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://food.chemlinked.com/news/food-news/japan-revises-gmo-food-labeling-requirements หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่กองบริหารสินค้าข้อตกลงและมาตรการการค้า โทร. 0-2547-5095 หรือสายด่วน 1385