ผู้จัดการรายวัน 360 - จับตา 2 ปีหากไม่มีอะไรใหม่ ตลาดชานมไข่มุก 3,000 ล้านบาทอาจหมดกระแส "The Alley" ทรานส์ฟอร์มสู่ "ไลฟ์สไตล์แบรนด์" บุกหนักปีหน้า หวังรายได้เท่าตัว จากสิ้นปีนี้คาดรายได้ 100 ล้านบาท
นายอนล ธเนศวรกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มิลลาร์รี่ จำกัด มาสเตอร์แฟรนไชส์ The Alley แบรนด์ชานมไข่มุกพรีเมียมจากประเทศไต้หวัน เปิดเผยว่า ตลาดชานมไข่มุกไทยปัจจุบันคาดว่าจะมีมูลค่า 2,500-3,000 ล้านบาท โตกว่า 40-50% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่หลังจากนี้มองว่าจะเติบโตลดน้อยลง เพราะเวลานี้ถือว่าช่วงที่อยู่ในจุดเติบโตมากสุดจากเรื่องกระแส นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งหากในอีก 1-2 ปีจากนี้ไม่มีอะไรใหม่เข้ามา ตลาดจะโตช้าลง แต่ยังเติบโตอยู่ หรือยังมีโอกาสที่จะได้เห็นมูลค่าตลาดที่ 5,000 ล้านบาทได้
"ตลาดชานมไข่มุกยังไปได้อยู่ และยังมีพรีเมียมแบรนด์หรือแบรนด์ต่างประเทศสนใจเข้ามาทำตลาดในไทย แต่อาจจะไม่เท่า 1-2 ปีที่ผ่านมา จากปัจจุบันคาดว่ากลุ่มพรีเมียมแบรนด์หรือมีราคาสินค้าสูงกว่า 75 บาทขึ้นไปมีอยู่ราว 10 แบรนด์ และมีส่วนแบ่งในตลาดราว 10% ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนตลาด ด้วยราคาที่สูงกว่า 75 บาทขึ้นไป ขณะที่กลุ่มใหญ่ คือ ตลาดระดับกลาง มีส่วนแบ่ง 60% ราคาสินค้าตั้งแต่ 45-75 บาท และระดับแมส มีส่วนแบ่ง 30% ราคาสินค้าต่ำกว่า 45 บาทลงมา"
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ The Alley ต้องการเป็นมากกว่าแบรนด์ชานมไข่มุก และเป็นแบรนด์ที่เติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นแผนในอนาคตจึงต้องการทรานส์ฟอร์มตัวเองเป็น "ไลฟ์สไตล์แบรนด์" ทางด้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีมากกว่าชานมไข่มุก เช่น กาแฟ อาหาร เบเกอรี และเมอร์ชันไดซ์ เป็นต้น
นางสาวอุณาวรรณ ตั้งคารวคุณ ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท มิลลาร์รี่ จำกัด กล่าวต่อว่า ในส่วนของกลยุทธ์การทำตลาดในไทยนั้น ปีหน้าบริษัทฯ มีแผนที่จะขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศไทยอย่างจริงจังใน 5 ด้าน ได้แก่ 1. ขยายสาขาไม่น้อยกว่า 20 สาขาภายในปี 2563 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยมุ่งไปในจังหวัดที่มีกำลังซื้อสูง ได้แก่ อุดรธานี ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต จากปัจจุบัน The Alley มีสาขาทั้งหมด 12 สาขา และภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มอีก 2 สาขา ได้แก่ ไอคอนสยาม และเดอะมอลล์งามวงศ์วาน
2. เพิ่มสินค้าใหม่ ได้แก่ ไอศกรีม, เบเกอรี, เครื่องดื่มร้อน มากกว่า 20 เมนู, เครื่องดื่มชานมไข่มุกเมนูใหม่ แบบซีซันนัล ที่ร่วมกับพาร์ตเนอร์ 3. Catering ธุรกิจการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ 4. ส่วนผสมที่เป็นออร์แกนิก และ 5. มุ่งสู่ Go Green แสดงจุดยืนดูแลและรักษ์โลกผ่านการดำเนินการภายใน และการดำเนินการภายนอกด้วยการมีส่วนร่วมกับลูกค้า
โดยเฉพาะในส่วนการขยายสาขา ตั้งเป้าเพิ่มสาขาใหม่ปีละ 1สาขา ลงทุนสาขาละ 1-3 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่และโมเดล โดยตั้งเป้าว่าปีหน้าจะมีรายได้เติบโตเป็นเท่าตัวจากสิ้นปีนี้มั่นใจว่าจะปิดรายได้ที่ 100 ล้านบาท จากที่ The Alley ทำตลาดในไทยมา 1 ปี ปัจจุบันมียอดขาย 100,000 แก้วต่อเดือน และกว่า 30% ของยอดขายมาจากดีลิเวอรี
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากแกร็บฟู้ดสำรวจพบว่า ปี 2561 ที่ผ่านมาตลาดเครื่องดื่มชานมไข่มุกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโต 3,000% จาก 1,500 แบรนด์ และหน้าร้านที่จำหน่ายกว่า 4,000 สาขา โดยชาวไทยบริโภคชานมไข่มุกมากสุด เฉลี่ยคนละ 6 แก้วต่อเดือน รองลงมาฟิลิปปินส์ 5 แก้วต่อเดือน ตามด้วยมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เฉลี่ยบริโภค 3 แก้วต่อเดือน
จากข้อมูลของบริษัทพบว่า จำนวน 80% ของยอดขายเป็นเครื่องดื่ม Milk Tea และ Brown Sugar กลุ่มลูกค้าหลัก 79% เป็นผู้หญิง และ 21% เป็นผู้ชาย โดยลูกค้าทั้งสองกลุ่มบริโภคชานมไข่มุกสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 24-35 ปี ถึงกว่า 50% และช่วงอายุ 35-44 ปี มากกว่า 25% สำหรับเมนูยอดนิยมของผู้บริโภคใน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. Brown Sugar Deerioca & Fresh Milk 2. Royal No.9 Milk Tea 3. Brown Sugar Deerioca & Puff 4. Tropical Passion Fruit Green Tea / Orange Lulu และ 5. Trio Assam Milk Tea
ส่วนท็อปปิ้ง อับดับ 1 มากกว่า 79% คือไข่มุก 10% 2. ว่านหางจระเข้ 6% 3. มะพร้าว และ 4. เยลลี นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคนิยมรับประทานหวานน้อยลง โดยผู้บริโภคกว่า 65% นิยมสั่งลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลง 33% สั่งลดปริมาณน้ำตาลให้มีรสชาติหวานน้อย 26% สั่งหวานปลานกลาง และ 6% ไม่ใส่น้ำตาล พบเพียง 35% เท่านั้นที่สั่งความหวานในระดับปกติ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพของตัวเองมากขึ้นในปัจจุบัน