เปิดตัว “โออาร์” บริษัทแกนนำธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกในเครือ ปตท.อย่างเป็นทางการ ตั้งเป้าหมายการรุกธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจต่างประเทศ ดันสัดส่วน EBIRDA โตกว่า 30% ในอนาคต หลังวางเป้าหมาย 5 ปีขยายปั๊มและร้านคาเฟ่ อเมซอนในต่างประเทศ เตรียมชงบอร์ดฯ อนุมัติแผนลงทุน 5 ปีข้างหน้า
วันนี้ (1 พ.ย.) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โออาร์ พร้อมคณะผู้บริหาร เปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “TOGETHER FOR BETTERMENT : รวมพลัง ร่วมสร้าง เพื่อทุกวันที่ดีขึ้น”
น.ส.จิราพรกล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ปตท.ได้ปรับโครงสร้างโดยนำหน่วยธุรกิจน้ำมันและบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องซึ่งเดิมเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของ ปตท.มาอยู่ภายใต้บริษัท ชื่อ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) โดยมีฐานะเป็นบริษัทเรือธง (Flagship) ของกลุ่ม ปตท.ด้านการดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีวิสัยทัศน์ในการเป็นแบรนด์ไทยชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมชุมชน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ตลอดจนการสร้างมูลค่าร่วมให้เกิดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล
โออาร์ ประกอบด้วยธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) และกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ โดยวางกลยุทธ์หลักการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ (Productivity) การเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Inorganic growth) ซึ่งมีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจน้ำมัน และขยายธุรกิจค้าปลีกและต่างประเทศ ที่ในอนาคตสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ( EBITDA) ของ 2 ธุรกิจนี้จะเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 30% และธุรกิจน้ำมันอยู่ที่ 70% โดยการเติบโตในอนาคตจะเน้นการตั้งบริษัทย่อย หรือร่วมทุนกับพันธมิตรในบริษัทต่างๆ ทั้งพันธมิตรในประเทศและพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อนำจุดแข็งของแต่ละกลุ่มมาใช้ร่วมกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง
น.ส.จิราพรกล่าวว่า ในปลายปีนี้โออาร์จะเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติแผนการลงทุนบริษัทใน 5 ปีข้างหน้า 2563-2567) ซึ่งจะเป็นการทบทวนแผนการลงทุนทุกปี ส่วนการนำโออาร์เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ขณะนี้อยู่ในกระบวนการ ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่ยืนยันว่าโออาร์เข้าตลาดหุ้นแน่นอน และมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความคึกคักให้กับตลาดหุ้นจากขนาดของธุรกิจที่ค่อนข้างใหญ่ รวมทั้งพิจารณารายละเอียดและความเป็นไปได้ในการกระจายหุ้น IPO ให้ชุมชนตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2561 โออาร์มีรายได้รวม 5 แสนกว่าล้านบาท และกำไร 7.9 พันล้านบาท แม้จะคิดเป็นร้อยละของกำไรต่อยอดขายไม่มากนัก แต่เมื่อเทียบกับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่อยู่ในธุรกิจใกล้เคียงกันก็นับว่าอยู่ในระดับที่ดี
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจน้ำมันโออาร์ ครองส่วนแบ่งตลาดรวมน้ำมันเป็นอันดับ 1 ในประเทศมาอย่างยาวนานกว่า 26 ปี โดยมีธุรกิจที่โดดเด่น ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น (PTT Station) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันฯ ทั่วประเทศกว่า 1,850 แห่ง ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นภายใต้แบรนด์พีทีที ลูบริแคนท์ส ที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในประเทศอย่างต่อเนื่องถึง 10 ปี และส่งออกไปจำหน่ายแล้วกว่า 40 ประเทศทั่วโลก การจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้แก่ลูกค้ากลุ่มอากาศยาน เรือขนส่ง และอุตสาหกรรม การจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ให้แก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และภาคครัวเรือน ภายใต้แบรนด์ก๊าซหุงต้ม ปตท. โดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ
สำหรับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (นอนออยล์) โออาร์คือผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) ภายในสถานีบริการน้ำมันฯ เป็นรายแรกของประเทศ โดยมีร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยปัจจุบันมีจำนวนสาขาภายในประเทศรวมกว่า 2,800 สาขา ยังได้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (นอนออยล์) มาเพิ่มความหลากหลาย อาทิ ร้านค้าสะดวกซื้อจิฟฟี่ ชานมไข่มุกเพิร์ลลี่ ที เท็กซัส ชิคเก้น ฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ ศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้ (FIT Auto) ฯลฯ อีกทั้งยังมีบัตรพีทีที บลูการ์ด (PTT Blue Card) ที่นำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Big Data Analytics) เพื่อให้ทราบพฤติกรรมผู้บริโภค
กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ โออาร์นำรูปแบบทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จภายในประเทศ ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ร้านค้าสะดวกซื้อจิฟฟี่ และศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้ ไปต่อยอดโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ อีกทั้งยังได้นำผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีไทย (SMEs) ไปขยายธุรกิจซึ่งปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันในลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และพม่า รวมกว่า 280 แห่ง คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 675 แห่ง ส่วนร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ในประเทศลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ พม่า สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น และโอมาน รวมกว่า 200 สาขา ใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 700 แห่ง ส่วนร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ กว่า 70 สาขาในปัจจุบันจะยังไม่ขยาย แต่จะปรับปรุงรูปแบบใหม่หลังประสบปัญหาเรื่องซัปพลายเชนจำนวนมาก