“ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก” เร่ง Transform องค์กรใหม่ เน้นกลยุทธ์และการตลาดเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อก้าวสู่แบรนด์ระดับโลก ทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจนอนออยล์และต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผน บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการเปลี่ยนองค์กรใหม่ (Transform) ให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruptive technology) โดยเน้นเรื่องกลยุทธ์และการตลาดที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายระยะแรกช่วง 2 ปีนี้ที่ก้าวสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก สร้างคุณค่าให้กับชุมชนและสังคม ตลอดจนลดขั้นตอนการทำงานให้มีความรวดเร็ว โดยดึงศักยภาพของบุคลากรมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ สร้างความคล่องตัวทางธุรกิจเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
โดยมีสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย, ภาษี, ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ 3 เสาหลักธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจน้ำมัน, นอนออยล์ และต่างประเทศ จะเปลี่ยนแปลงในช่วง 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ EBITDA ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจน้ำมัน 60-70%, นอนออยล์ 24% และต่างประเทศ 6-7% ก็จะเปลี่ยนไป โดยสัดส่วน EBITDA ของนอนออยล์ และต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของร้านคาเฟ่ อเมซอน ในต่างประเทศ และเศรษฐกิจของประเทศรอบบ้านเติบโต
นายบุรณินกล่าวอีกว่า บริษัทได้เข้าสู่กระบวนการทรานส์ฟอร์มมา 3-4 เดือน โดยเปลี่ยนชื่อสถานีบริการจาก PTT เป็น PTT Station ครบทุกแห่งแล้ว โดย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 62 มีสถานีบริการน้ำมันในประเทศ 1,835 แห่ง และต่างประเทศ 281 แห่ง ในกัมพูชา, ลาว และฟิลิปปินส์ ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนในประเทศก็จะยังเห็นการขยายสถานีบริการน้ำมันต่อเนื่อง แต่อาจไม่ได้เติบโตมากเหมือนการขยายร้านคาเฟ่ อเมซอน
ทั้งนี้ สถานีบริการน้ำมันเป็นการเติบโตในระดับถนนสายรอง หรือชุมชน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพราะสถานีบริการน้ำมันถนนสายหลักมีค่อนข้างมากแล้ว รวมทั้งภายในสถานีบริการก็จะต้องเชื่อมโยงกับธุรกิจสมัยใหม่ อย่างการให้บริการดีลิเวอรี รวมถึงบางแห่งก็ต้องมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charge) ด้วย
ปัจจุบันมี EV Charge แล้ว 17 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 20-25 แห่งในปีหน้า โดยจะเริ่มพิจารณาการติดตั้งระบบ Quick Charge มากขึ้นด้วยเพื่อลดระยะเวลาการใช้บริการ ขณะเดียวกัน น้ำมันที่จะให้บริการก็จะเน้นความเป็นสีเขียวมากขึ้น อย่างผลิตภัณฑ์ B10, B20, E10, E20 ตลอดจนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิลด้วย
ส่วนธุรกิจนอนออยล์ อาทิ ร้านคาเฟ่ อเมซอน ที่เปิดอยู่ในไทย 2,700 แห่ง ซึ่งกลยุทธ์การเติบโตของนอนออยล์ไม่ได้เน้นเพียงการขยายสาขา แต่จะต้องเติบโตในเรื่องของระบบการบริการ ระบบบริหารจัดการภายในร้าน และสินค้า โดยจะต้องเชื่อมโยงการบริหารจัดการ มาตรฐาน และนำประโยชน์จากดิจิทัลมาใช้ ขณะที่การเติบโตในต่างประเทศ จะเน้นสร้างการรับรู้เรื่องแบรนด์ รวมถึงการนำสินค้าชุมชนเข้าสู่แพลตฟอร์มเพื่อกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
ส่วนร้านสะดวกซื้อ ภายใต้ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่มีสัญญาการให้บริการในสถานีบริการน้ำมัน และร้านจิฟฟี่ ซึ่งเป็นของกลุ่มโออาร์, ศูนย์บริการยานยนต์ฟิตออโต้ (Fit Auto), ร้านค้าที่ซื้อมาสเตอร์แฟรนไชส์เข้ามาดำเนินงาน เช่น ไก่ทอดเท็กซัส ร้านติ่มซำฮั่วเซ่งฮง, ร้านโดนัท แด๊ดดี้ โด เป็นต้น
สำหรับธุรกิจต่างประเทศ โออาร์ดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ใน 3 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์ รวมกัน 281 แห่ง และมีร้านคาเฟ่ อเมซอน 222 แห่ง ใน 9 ประเทศ ได้แก่ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และโอมาน ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ จิฟฟี่ 77 แห่ง ใน ลาวและกัมพูชา รวมถึงมีธุรกิจให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินหลัก 3 แห่งในกัมพูชา และจัดหาน้ำมันอากาศยานให้กับบริษัทในลาว และล่าสุดร่วมกับพันธมิตรในพม่าเพื่อทำโครงการธุรกิจคลังและค้าส่งปิโตรเลียม และโครงการธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีก โดยจะเห็นสถานีบริการน้ำมันแห่งแรกในพม่าในช่วงไม่เกินไตรมาส 2/63