“อาคม” ตรวจก่อสร้างรถไฟทางคู่ “นครปฐม-ชุมพร” ค่าก่อสร้างกว่า 3.39 หมื่นล้าน คืบหน้าแล้ว 0.78% กำชับหารือ จ.เพชรบุรี ปรับแบบก่อสร้างลดผลกระทบ ปชช. และทบทวนจุดที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูง สถานีให้อยู่ในตัวเมืองหัวหิน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร โดยมีพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ บรรยายสุปผลการดำเนินงาน ณ สำนักงานบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง บริเวณสถานีรถไฟชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
โดยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กม. มูลค่าโครงการรวม 33,982,000,000 บาท ปัจจุบันมีความก้าวหน้ารวม เร็วกว่าแผน ร้อยละ 0.78 โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 5 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กม. เริ่มการก่อสร้างเมื่อ 1 ก.พ. 61 สิ้นสุดสัญญา 31 ม.ค. 64
สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน ระยะทาง 76 กม. เริ่มการก่อสร้างเมื่อ 1 ก.พ. 61 สิ้นสุดสัญญา 31 ม.ค. 64
สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. เริ่มการก่อสร้างเมื่อ 1 ก.พ. 61 สิ้นสุดสัญญา 31 ม.ค. 63
สัญญาที่ 4 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย ระยะทาง 84 กม. เริ่มการก่อสร้างเมื่อ 1 ก.พ. 61 สิ้นสุดสัญญา 31 ต.ค. 63
สัญญาที่ 5 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ระยะทาง 80 กม. เริ่มการก่อสร้างเมื่อ 1 ก.พ. 61 สิ้นสุดสัญญา 31 ม.ค. 64
นายอาคมกล่าวว่า ได้กำชับให้ ร.ฟ.ท. ดำเนินการ 1) ออกแบบสถานีรถไฟหัวหินให้สวยงาม โดยอนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม ปรับภูมิทัศน์สถานีให้สวยงาม ทำถนนหน้าสถานีเป็นรูปแบบการปูหินที่มีความสวยงาม 2) พิจารณาทบทวนที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูง สถานีหัวหิน จากเดิมที่ได้ศึกษาออกแบบไว้อยู่ห่างจากตัวเมืองหัวหิน ประมาณ 7 กม. ให้อยู่ในตัวเมืองหัวหิน 3) นำหัวรถจักรรถไฟที่จมอยู่ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นหัวรถจักรที่ใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นจากน้ำ เพื่อจัดแสดงเป็นอนุสรณ์และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
4) ประสานงานกับทางจังหวัดเพชรบุรี และผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อหาแนวทางในการปรับแบบการก่อสร้างที่มีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อไม่ให้การดำเนินโครงการฯ ล่าช้า 5) ออกแบบสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ ให้มีที่จอดรถสาธารณะ มีสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการให้ครบถ้วน มีห้องน้ำอยู่ภายในอาคารสถานี ให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ก่อสร้างถนนเชื่อมสถานีรถไฟทุกสถานี