xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เคาะทางคู่ “เด่นชัย-เชียงของ” 8.53 หมื่นล้าน ปรับแผนเวนคืนเร่งประมูลปลายปี ซอย 5-6 สัญญา เร่งเปิดปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.อนุมัติรถไฟทางคู่สาย “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” 323 กม. วงเงิน 8.53 หมื่นล้าน “อาคม” สั่ง ร.ฟ.ท.ปรับแผนเร่งประมูลในปีนี้คู่ขนานเวนคืน หวังเปิดให้บริการเร็วขึ้น 2 ปี จากปี 68 เป็นปี 66 ด้าน ร.ฟ.ท.เร่งชงซูเปอร์บอร์ดอนุมัติ TOR คาดซอย 5-6 สัญญาเพื่อความรวดเร็ว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 ก.ค.ได้มีมติอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 85,345 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ พร้อมอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนของโครงการเพื่อสร้างทางรถไฟ สะพานข้ามทางรถไฟในเส้นทาง 4 จังหวัด คือ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย

ทั้งนี้ ได้เร่งรัดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เวนคืนและก่อสร้างเพื่อให้เปิดบริการเร็วขึ้น 2 ปี จากแผนที่จะเปิดเดินรถปี 2568 เป็นปี 2565-2566 ซึ่งให้ ร.ฟ.ท.เสนอคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ด) ที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน พิจารณากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อความโปร่งใสต่อไป

รถไฟทางคู่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 85,345 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานโยธา 72,921 ล้านบาท โดยเบื้องต้นแบ่งการก่อสร้างเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. วงเงิน 26,704 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. วงเงิน 28,735 ล้านบาท สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 17,482 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 10,660 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษา 1,764 ล้านบาท โดยรัฐรับภาระค่าดำเนินการทั้งโครงการ โดยสำนักงบประมาณจัดสรรงบรายปีหรือกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ค้ำประกันตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการเพิ่มเติมคือ 1. จัดทำแนวทางการพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งในภาพรวมของประเทศ ซึ่งจะเสนอ ครม.ใน 1 เดือน 2. ประสานพื้นที่และท้องถิ่นเพื่อจัดทำพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว 3. ทำแผนบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในระหว่างการก่อสร้าง เนื่องจากแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำ A และมีอุโมงค์ 4 แห่ง ระยะทางรวม 13.9 กม. ที่แพร่, พะเยา, เชียงราย 4. เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเดินรถ

“จะพยายามเร่งเปิดประมูลภายในปีนี้ เพราะโครงการนี้ EIA ผ่านแล้วสามารถทำการประมูลหาผู้รับจ้างคู่ขนานไปกับการเวนคืนได้ ซึ่งในสัญญาก่อสร้างจะต้องกำหนดเรื่องการส่งมอบพื้นที่ไว้ด้วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาส่งมอบล่าช้า อยากให้ทำเร็วๆ เพราะประชาชนรอคอยมา 58 ปีแล้ว ส่วนงบเวนคืน สามารถบริหารจัดการภายในจัดหามาดำเนินการได้”

โครงการนี้ริเริ่มตั้งแต่ปี 2503 เริ่มศึกษาความเหมาะสม เป็นโครงการที่รอคอย 58 ปี โดยออกแบบแล้วเสร็จปี 2555 ผ่านการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว (EIA) ซึ่งเป็นโครงการที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเพิ่มขึ้นอีก 2 จังหวัด ได้แก่ พะเยา และเชียงราย เป็นการก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ สามารถเชื่อมต่อไปยังศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับการออกแบบให้เหมาะสมและให้เข้าถึงได้ทุกกลุ่ม พร้อมกับเร่งจัดหาหัวรถจักร และศึกษาแนวทางการประกอบรถภายในประเทศ ซึ่งนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กำลังพิจารณา ซึ่งอาจเป็นการส่งเสริมเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ เช่น การต่อตัวรถ ซึ่งอาจจะเริ่มจากการประกอบแคร่ขนส่งสินค้าก่อน เนื่องจากปริมาณความต้องการตู้โดยสารและแคร่สินค้ามีมากพอที่จะลงทุนประกอบเองภายในประเทศ

ส่วนรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง และสายใหม่อีก 1 เส้นทางนั้น ร.ฟ.ท.ได้ทำข้อมูลเพิ่มเติมและคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ได้อนุมัติแล้ว อยู่ในขั้นตอนเสนอไปที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) หากได้รับอนุมัติจะสามารถเสนอ ครม.ได้ครบทั้งหมดภายในปีนี้

นายอาคมกล่าวว่า ปัจจุบันกำลังก่อสร้างเฟส 1 ระยะทาง 993 กม. และเฟส 2 รวมกับเส้นทางใหม่ มี 9 เส้นทางอีก 2,164 กม. เมื่อก่อสร้างเสร็จจะเพิ่มโครงข่ายทางคู่เป็น 80% ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ และทำให้โครงข่ายระบบรถไฟหรือความหนาแน่นของรถไฟเพิ่มจาก 0.0081 กม./ตร.กม. เป็น 0.0172 กม./ตร.กม. ซึ่งยังไม่รวมแผนในอนาคตที่จะมีการเพิ่มเส้นทางรถไฟสายย่อยเชื่อมระหว่างเมืองเข้าสู่พื้นที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยวที่ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างศึกษาจัดทำแผน เช่น เส้นทางระนอง-ชุมพร, อุบลราชธานี-ช่องเม็ก เป็นต้น

ด้านนายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ตามแผนงานจะใช้เวลาเวนคืนที่ดิน 1-2 ปี (ปี 63-64) จากนั้นจะเปิดประมูลในปี 64 เริ่มก่อสร้างปี 65 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี หรือ 48 เดือน แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 68 ซึ่งจะมีการปรับกรอบดำเนินงาน โดยจะเริ่มขั้นตอนการประมูลคู่ขนานไปกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

อย่างไรก็ตาม หลังจาก ครม.เห็นชอบโครงการและร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนแล้วจะต้องรอกระบวนการของกฤษฎีกาประกาศ โดยในส่วนของ ร.ฟ.ท.จะเร่งจ้างที่ปรึกษาจัดทำเอกสารประกวดราคา และที่ปรึกษาสำรวจทำแผนที่ งานสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ และประเมินราคาที่ดินเพื่อการเวนคืน คู่ขนานและเปิดประมูลหลังซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อฯ อนุมัติทีโออาร์ ซึ่งคาดว่าจะมีการแยกสัญญาอุโมงค์และระบบอาณัติสัญญาณออกมาประมูลต่างหากเพื่อความรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ 5-6 สัญญา

สำหรับการเวนคืนนั้น เป็นแนวเส้นทางใหม่ จะใช้พื้นที่เขตทาง 50 เมตร ประมาณ 9,661 ไร่ ก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) จำนวน 40 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) จำนวน 102 แห่ง มีอุโมงค์ขนาน 4 แห่ง ระยะทางรวม 13.9 กม. ได้แก่ ในจังหวัดแพร่ 2 แห่ง ได้แก่ ช่วง กม.606+200-กม.607+325 ระยะทาง 1.1 กม. และช่วง กม.609+050-กม.615+425 ระยะทาง 6.4 กม. ในจังหวัดพะเยา 1 แห่ง ช่วง กม.663+400-กม.666+225 ระยะทาง 2.8 กม. และจังหวัดเชียงราย 1 แห่ง ช่วงกม.816+600-กม.820+000 ระยะทาง 3.6 กม.

ด้านผลการศึกษาความเหมาะสม มีค่าผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 1.02% ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 13.31% เปิดให้บริการปี 2566 ประเมินผู้โดยสาร 5,614 คนต่อวัน และเพิ่มเป็น 9,816 คนต่อวันในปี 2595 มีปริมาณสินค้า 2.20 ล้านตันต่อปี และเพิ่มเป็น 8.23 ล้านตันต่อปีในปี 2595


กำลังโหลดความคิดเห็น