xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” มั่นใจรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของเริ่มสร้างระบบเดินรถปีนี้ ด้านถนน 2 ช่วงสะดุดรอ EIA

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพร่ - อาคมมั่นใจใช้เงินกู้ต่างประเทศ 8.5 หมื่นล้านพัฒนาใหม่ทั้งหมด วางรางแบบทางคู่สวนกันได้ปลายทางจ่อชายแดนรับการส่งสินค้าและท่องเที่ยว เสริมรถไฟท้องถิ่นเดินทางระหว่างจังหวัดสะดวก-ประหยัด ด้านถนนขยาย 4 ช่องจราจรยังสะดุด 2 ช่วงล้วนติดปัญหารอ EIA

เร็วๆ นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางตรวจ เยี่ยมสถานีรถไฟเด่นชัย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปจากบริษัท เอ็มเอเอคอนซัลแตนท์ จำกัด ในการออกแบบ ก่อสร้าง และการศึกษาผลกระทบ โครงการรถไฟทางคู่จากสถานีเด่นชัยไปจังหวัดเชียงรายและแนวชายแดนที่อำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย

นายเอกสิทธิ์ ป.สัตยารักษ์ วิศวกรออกแบบรถไฟทางคู่ บริษัท เอ็มเอเอคอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า การก่อสร้างทางรถไฟสายดังกล่าวมีความยาวระยะทาง 323 KM เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางใหม่ ต้องมีการออกแบบ เวนคืนที่ดิน และสำรวจเส้นทางใหม่ทั้งหมด ผลของการสำรวจ ตั้งแต่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ไปจังหวัดพะเยา จังหวัดเชียงราย และเชียงของ แนวของเส้นทางส่วนใหญ่เกาะไปตามทางหลวงหมายเลข 101 และทางหลวงหมายเลข 1

การออกแบบแนวทางรถไฟ และรถไฟที่จะนำมาวิ่งเป็นรถไฟแบบใหม่ เส้นทางสามารถรองรับรถไฟฟ้าได้ในอนาคตอีกด้วย รวมทั้งสถานีเด่นชัยจะเป็นชุมทางสำคัญในการเปลี่ยนไปใช้การคมนาคมแบบอื่น หรือจะเดินทางไปขึ้นรถไฟความเร็วสูงก็สามารถทำได้

โครงการก่อสร้างครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่การเวนคืนที่ดินจะต้องเริ่มในปี 2561 การก่อสร้างเส้นทางวางรางรถไฟ รวมทั้งสถานีบริการประชาชนจะเริ่มสร้างได้ในปี 2563 สถานีรับส่งผู้โดยสารหลัก คือ สถานีเด่นชัย สถานีแพร่ สถานีพะเยา สถานีป่าแดด สถานีเชียงราย และสถานีเชียงของ เส้นทางรถไฟดังกล่าวจะมีรัศมีห่างจากตัวเมืองแพร่ราว 2 กิโลเมตร ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในอำเภอเมืองแพร่อย่างแน่นอน

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของอยู่ในแผนการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้งบประมาณจากการกู้เงินต่างประเทศมาเป็นงบลงทุนก่อสร้าง เมื่อสร้างเสร็จถือเป็นสถานีรถไฟที่มีมาตรฐาน สมบูรณ์แบบ พร้อมรองรับการขนส่งสินค้าทางรางจากประเทศเพื่อนบ้าน และสินค้าจากประเทศไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นยังได้ประโยชน์จากการเดินทางของประชาชนและการท่องเที่ยว ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมที่วางแผนไว้ 9 โครงการ หลังจากเสร็จโครงการรถไฟเด่นชัย เชียงราย เชียงของ ก็จะต่อเส้นทางรถไฟเด่นชัย เชียงใหม่เป็นระบบรถไฟทางคู่ด้วยเช่นกัน การพัฒนาดังกล่าวจะส่งเสริมให้มีการเปิดเส้นทางขนส่งมวลชนในท้องถิ่น เดินรถระยะสั้นระหว่างจังหวัด

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นเป็นที่นิยมอย่างมาก การนำมาใช้ในประเทศไทยน่าจะมีผลดี แต่ที่ผ่านมาทำได้ยากเนื่องจากมีรางแบบเส้นทางเดียวต้องรอการสับหลีกจึงทำให้ล่าช้า ซึ่งมั่นใจว่าหลังโครงการพัฒนาทางรถไฟเสร็จก็จะได้ประโยชน์ต่อประชาชนในภาคเหนือและคนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางตรวจการทำงานขยายช่องทางจราจรจากสองช่องทางเป็นสี่ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 101 ระหว่างชายแดนห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน-อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ทางหลวงหมายเลข 103 จาก อ.ร้องกวาง จ.แพร่-อ.งาว จ.ลำปาง และทางหลวงหมายเลข 11 อ.เด่นชัย จ.แพร่-อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นเส้นทางสายสำคัญในด้านเศรษฐกิจของภาคเหนือและมีความสำคัญระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการค้ากับประเทศจีน ลาว และเวียดนาม ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระบบลอจิสติกส์ผ่านประเทศไทยที่กำลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในขณะนี้

นายอาคมกล่าวว่า เส้นทางดังกล่าวเดิมมี 2 ช่องทางจราจร มีการปรับปรุงครั้งใหญ่เป็นเส้นทาง 4 ช่องทางจราจรรองรับการเดินทางทุกรูปแบบ แต่ปัจจุบันการก่อสร้างได้ล่าช้ากว่ากำหนด โดยเฉพาะ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางหมายเลข 11 ตอนระหว่าง อ.เด่นชัย อ.ลอง จ.แพร่-อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ระยะทางประมาณ 52 กม. ไม่สามารถสร้างทางต่อได้เนื่องจากติดปัญหาพื้นที่อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

และเส้นทางหมายเลข 101 จากห้วยโก๋น จ.น่าน-อ.ร้องกวาง จ.แพร่ บางส่วนในจังหวัดน่านก็ยังติดพื้นที่อนุรักษ์ยังคงต้องรอผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ ทั้งสองเส้นทางดังกล่าวใช้งบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท ส่วนเส้นทางหมายเลข 103 จาก อ.ร้องกวางไปเชื่อมทางหลวงขั้นที่ 1 ที่ อ.งาว จ.ลำปาง ปัจจุบันกำลังเร่งก่อสร้างและยังเหลือการก่อสร้างช่วงตอนบ้านแม่ตีบ อ.สอง จ.แพร่ ไป อ.งาว จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563 งบประมาณโดยรวมต้องใช้กว่า 3,000 ล้านบาท

นายอาคมกล่าวต่อไปว่า เส้นทางในประเทศมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ถนนสายหลักหรือขั้นที่ 1 เสร็จไปแล้ว หากมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านทั้งสองเส้นดังกล่าวคาดว่าคงไม่เกินปี พ.ศ. 2564 จะสามารถเชื่อมเส้นทางได้ทั้งภาคเหนือ สะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียนตามนโยบายรัฐบาลได้เป็นอย่างดี












กำลังโหลดความคิดเห็น